ยื่นภาษี ปี 2567 ทำความรู้จัก ภ.ง.ด.90 / ภ.ง.ด.91 คืออะไร ต่างกันอย่างไร

ภาษี

ยื่นภาษี 2567 ชวนทำความรู้จัก ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 สำหรับผู้ที่ต้องการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต่างกันอย่างไร เงื่อนไขประเภทเงินได้คืออะไร

วันที่ 17 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่กรมสรรพากร เปิดให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2566 ที่ต้องยื่นช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2567 ผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่งใกล้บ้าน และหากยื่นผ่านออนไลน์เว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ให้ถึงวันที่ 9 เม.ย. 2567 สำหรับแบบยื่นภาษีนั้น เราจะเรียกว่า “ภ.ง.ด.” ย่อมาจาก “ภาษีเงินได้” ซึ่งในการยื่นแบบภาษีแต่ละชนิด จะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” จะพามาทำความรู้จักกับการยื่นภาษีประเภท ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 แตกต่างกันอย่างไงบ้าง

ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 คืออะไร

  • ภ.ง.ด. 90 คือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สําหรับผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ถึง (8) หลายประเภทหรือประเภทเดียว โดยต้องยื่นแบบภายในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ของทุกปี
  • ภ.ง.ด. 91 คือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สําหรับคนที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ประเภทเดียว ที่ได้จากการจ้างงาน ต้องยื่นภายในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.ของทุกปี

ทั้ง ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 ต่างก็เป็นภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาเหมือนกัน แล้วแต่กรณี ในกรณีที่เป็นมนุษย์เงินเดือนมีรายได้แค่เงินเดือนประจำเท่านั้นจะต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 แต่ถ้ามีรายได้จากแหล่งอื่น เช่น ค้าขายแบบบุคคลธรรมดา เงินปันผล หรืออื่น ๆ ให้ยื่นเป็น ภ.ง.ด. 90

ใครบ้างต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91

สำหรับผู้ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 มีดังนี้

  • บุคคลที่ยังไม่จดทะเบียนสมรส ที่มีเงินได้เกิน 60,000 บาท
  • บุคคลที่เป็นสามี ภรรยา ที่มีเงินได้จากทั้งสองฝ่ายรวมกันเกิน 120,000 บาท
  • ทรัพย์สินมรดก ที่ยังไม่ได้แบ่งมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
  • ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้เกิน 60,000 บาท
  • บุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้เกิน 60,000 บาท

สำหรับผู้ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 มีดังนี้

  • บุคคลที่ยังไม่จดทะเบียนสมรส มีเงินได้เกิน 120,000 บาท
  • บุคคลที่เป็นสามี ภรรยา ที่มีเงินได้จากทั้งสองฝ่ายรวมกันเกิน 220,000 บาท

ประเภทเงินได้แยกตาม ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91

ทั้งนี้ เงินได้ที่ว่านั้น คือ อะไรก็ตามที่ได้รับมาแล้วทำให้มีรายได้ โดยกฎหมายจะเรียกชื่อเฉพาะว่า เงินได้พึงประเมิน เช่น เงินสด ทรัพย์สินที่ตีราคาได้ สิทธิประโยชน์ที่ตีราคาได้ เงินค่าภาษีที่มีคนจ่ายแทนให้เรา และ เครดิตภาษีเงินปันผล ในทางตรงกันข้าม อะไรก็ตามที่ไม่ทำให้มีรายได้จึงไม่เป็นเงินได้พึงประเมิน เช่น เงินกู้ หรือทรัพย์สินที่ยืมมา เป็นต้น โดยเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แบ่งได้เป็น 8 ประเภทดังนี้

  • เงินเดือน (เงินได้ประเภทที่ 1)
  • ค่าจ้างทั่วไปตามตำแหน่งงานที่ทำ (เงินได้ประเภทที่ 2)
  • ค่าลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา (เงินได้ประเภทที่ 3)
  • ดอกเบี้ย เงินปันผล ผลประโยชน์จากการลงทุน (เงินได้ประเภทที่ 4)
  • ค่าเช่า (เงินได้ประเภทที่ 5)
  • ค่าวิชาชีพอิสระ (เงินได้ประเภทที่ 6)
  • ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ (เงินได้ประเภทที่ 7)
  • เงินได้อื่น ๆ นอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 แล้ว (เงินได้ประเภทที่ 8)

เท่ากับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 เงินได้ประเภทที่ 1 จะได้สำหรับ ภ.ง.ด. 91 กรณีมีแค่เงินเดือนประจำเท่านั้น แต่ถ้ามีรายได้จากแหล่งอื่นตามเงินได้ประเภทที่ 1 ถึง 8 ตามข้างต้นให้ยื่นเป็น ภ.ง.ด. 90