บล.พาย เผย KBANK จ่อตั้งสำรองหนี้รายใหญ่เพิ่ม จัดชั้น ITD หนี้มีปัญหา

KBank

บล.พาย ให้มุมมองเป็นกลางเป้าเติบโต KBANK ปี 2567 เผยในที่ประชุมนักวิเคราะห์ เจรจาจัดการหนี้กับธุรกิจลูกค้ารายใหญ่เพิ่ม-จัดชั้น “ITD” หนี้มีปัญหา

วันที่ 26 มกราคม 2567 นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) หรือ Pi กล่าวว่า ตามที่ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประกาศเป้าหมายทางการเงินประจำปี 2567 โดยมีสาระสำคัญคือ

1.รักษาผลตอบแทนจากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ใกล้เคียงกับปี 2566 ที่อยู่ระดับ 3.66% 2.พอร์ตสินเชื่อ (Loan Growth) ในปี 2567 จะเติบโต 3-5% จากปี 2566 ที่หดตัว 0.19% 3. รายได้ค่าธรรมเนียม (Net Fee Income Growth) เติบโตระดับซิงเกิลดิจิต จากปี 2566 ติดลบ 5.17%

4.หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) จะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 3.25% จากปี 2566 อยู่ที่ 3.19% 5. อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม Cost to Income Ratio) จะต่ำกว่าระดับ 40% จากปี 2566 อยู่ที่ 44.10%

6.ต้นทุนทางการเงิน (Credit Cost) จะอยู่ที่ระดับ 175-195 bps จากปี 2566 อยู่ที่ 208 bps และ 7. นโยบายจ่ายเงินปันผลที่อัตราไม่ต่ำกว่า 25% ของกำไรสุทธิ

โดย บล.พาย มีมุมมองเป็นกลางต่อเป้าหมายของ KBANK เนื่องจากสมมุติฐานของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับของธนาคาร ดังนั้นยังคงมุมมองต่อการฟื้นตัวของธนาคารและคุณภาพสินเชื่อในปีนี้ โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 152 บาท

ด้านความสามารถการทำกำไร คาดอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิที่ 9% และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มเป็น 8.4% ด้านคุณภาพสินทรัพย์คาด NPL ratio ที่ 3.2% และ coverage ratio ที่ 153% บนสมมติฐาน Credit cost ที่ 185 bps

ทั้งนี้มองว่าการฟื้นตัวของธนาคารยังเป็นอย่างที่ประเมินไว้ ดังนั้นมองว่าจุดที่ต้องการความชัดเจนมากขึ้น คือ 1.กระบวนการในการดูแลงบดุล (balance sheet cleanup) และหนี้เสียที่เกิดจากบริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และ 2.กลยุทธ์ในการสร้างความสามารถเชิงการแข่งขันในอนาคต เช่น การลงทุนในด้านดิจิทัลเพื่อขยายฐานลูกค้า ลดต้นทุนการบริการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการความเสี่ยง

และจากการประชุมนักวิเคราะห์ของ KBANK วันนี้สรุปดังนี้ 1.ตั้งเป้า ROE เป็น 2 หลัก ในปี 2569 บนกลยุทธ์ “Three strategic priorities + 1 เพิ่มประสิทธิภาพเชิงการแข่งขัน สร้างโอกาสเติบโต และส่งมอบผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ

2.กลยุทธ์การเติบโตของสินเชื่อ เน้นลูกค้ากลุ่มเดิมที่มีคุณภาพดี (ทั้งที่มีสินเชื่อกับธนาคารและยังไม่มี) สินเชื่อที่มีหลักประกัน และลูกค้ากลุ่ม middle class

3.การสร้างรายได้ค่าธรรมเนียม นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ ปรับปรุงการบริการหลังการขาย Cross Selling ผลิตภัณฑ์ด้านประกันกลุ่ม private wealth

4.สร้าง Wealth Management Platform เช่น ลงทุนผ่าน mobile banking, payment platform เพิ่มประสิทธิภาพต้นทุนด้วยการลดต้นทุนการให้บริการลง คาดว่าจะลดได้อีก 30-40% ในอีก 2-3 ปี

5.แม้ว่า NIM ในปี 2567 คาดว่าจะทรงตัวจาก 3.66% ในปี 2566 แต่ NIM หลังจากสำรองหนี้จะสูงขึ้น เพราะมั่นใจว่า credit cost ในปี 2567 (175-195 bps) จะลดลง ซึ่งรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นและมาตรการเข้มงวดมากขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

6.ด้านคุณภาพหนี้ มีการตรวจเช็กสถานะของลูกหนี้รายใหญ่เพื่อลดความเสี่ยง อย่างไรก็ดี ธนาคารอยู่ระหว่างเจรจาพูดคุยการจัดการคุณภาพหนี้กับธุรกิจลูกค้ารายใหญ่ (ยังไม่ได้เป็นหนี้เสีย) ซึ่งอาจไม่ใช่ลูกค้ารายใหญ่เหมือนกรณี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) แต่อาจจะเป็นรายหนึ่งที่มียอดขายเกิน 500 ล้านบาท แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม

ขณะที่กรณีของ ITD (syndicated loans) มีการกันสำรองหนี้ฯบางส่วน และอยู่ในขั้นตอนการจัดการแก้ไข “ตอนนี้ KBANK จัดชั้นหนี้ของ ITD เป็นลูกหนี้มีปัญหา (stage 2) แต่ยังไม่ได้เป็น NPL ซึ่งได้มีการกันสำรองหนี้ไปแล้วบางส่วน” นายธนเดชกล่าว

7.มองว่าการที่ ROE จะกลับเป็น double digit ตามเป้าในปี 2569 ขึ้นกับ 1.การเติบโตพอร์ตสินเชื่อที่มีคุณภาพ 2.เน้นควบคุมคุณภาพหนี้เพื่อลดระดับ credit cost ในอนาคต 3.สร้างการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมผ่านผลิตภัณฑ์ใหม่ กระจายกลุ่มลูกค้าใหม่ และอาศัย strategic partner ที่มีความเชี่ยวชาญต่างไปจาก KBANK และ 4.ลดต้นทุนดำเนินงาน คุม cost to income ratio ให้ได้ระดับ low 40% และ 5.จ่ายเงินปันผลสูงขึ้น