ส่องหุ้นแบงก์จ่ายปันผล โบรกชู “TISCO-SCB-TCAP” จัดเต็ม

หุ้นปันผล

หลังจากธนาคารพาณิชย์ แจ้งผลประกอบการปี 2566 กันครบแล้ว ถัดจากนี้ก็จะเข้าสู่ช่วงการจ่ายเงินปันผล ลองมาดูกันว่าแบงก์ไหนจะจ่ายเงินปันผลโดดเด่นบ้าง

3 แบงก์เด่นจ่ายปันผลเกิน 7.5%

โดย “ธนเดช รังษีธนานนท์” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ พาย เปิดเผยว่า วิเคราะห์จากผลดำเนินงานของหุ้นกลุ่มแบงก์ 7 แห่ง (BBL, KBANK, KTB, SCB, TISCO, ttb, TCAP และ KKP) คาดว่าแบงก์ที่จะมีอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) โดดเด่นในปี 2567 มี 3 ราย ได้แก่ TISCO, SCB และ TCAP ที่ประเมินว่าจะมีอัตราการจ่ายเงินปันผลเกิน 7.5% ส่วนรายอื่น ๆ คาดว่าจะจ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4-6%

อย่างไรก็ตาม มองว่าหุ้นกลุ่มแบงก์ยังน่าลงทุน เนื่องจากในปีนี้ หุ้นแบงก์หลายตัวราคาปรับตัวลงค่อนข้างมาก หลังจากประกาศงบฯก็มีแรงขายออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะเกิดจากปัจจัยเฉพาะตัว แต่ตัวที่น่าสนใจต่อการลงทุน ได้แก่ BBL และ ttb เนื่องจากอัตราการเติบโตของกำไร โดยปีนี้คาดว่ากลุ่มแบงก์จะโต 8.6% ขณะที่ BBLและ ttb คาดจะโตได้ประมาณ 14% การเติบโตที่ค่อนข้างโดดเด่น การควบคุมคุณภาพหนี้และมีการจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ค่อนข้างดี และการจ่ายปันผลก็ออกมาค่อนข้างดี

“หุ้นที่จะจ่ายปันผลได้ดี มี 3 ตัว คือ TISCO, SCB, TCAP แต่ตัวที่น่าสนใจในเชิงของราคาหุ้นการเติบโตและคุณภาพหนี้ในปีนี้ แนะนำ BBL และ ttb ทั้งนี้ ภาพรวมของหุ้นกลุ่มแบงก์ในปีนี้ เรามองเป็นกลางในการลงทุน เนื่องจากการเติบโตน่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับ SET จากปีที่ผ่านมาทำกำไรได้ดีกว่า SET”

“ดอกเบี้ยลด-หนี้เสีย” ตัวฉุด

“ธนเดช” กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในปีนี้กลุ่มแบงก์ยังคงมีทั้งประเด็นที่เป็นบวกและลบที่ต้องติดตาม โดยประเด็นที่เป็นบวก คือ เศรษฐกิจเติบโตได้ ราคาหุ้นแบงก์ไม่ได้แพงมาก แต่ก็มีปัจจัยที่ท้าทายมากขึ้น อย่างเช่น โอกาสในการลดดอกเบี้ย ซึ่งปีนี้น่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลง โดยธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) และประเทศใหญ่ ๆ น่าจะปรับลดดอกเบี้ยลงตั้งแต่ช่วงกลางปี แต่ดอกเบี้ยของไทยอาจจะไม่ได้ปรับลดลงเท่ากับประเทศอื่น ๆ เนื่องจากยังต้องดูคุณภาพหนี้ และความกังวลหนี้ครัวเรือน

ขณะที่ลูกค้าเอสเอ็มอี ความสามารถในการแข่งขันก็ไม่ได้โดดเด่นมาก ยังฟื้นตัวช้าหลังโควิด-19 ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ก็เริ่มมีปัญหาในการชำระคืนเงินกู้ อย่างที่มีประเด็นเรื่องหุ้นกู้ที่เป็นกระแสอยู่

Advertisment

“ฉะนั้นก็อาจจะทำให้เกิดความกังวล หากชำระเงินคืนผู้ถือหุ้นกู้ก็ไม่ได้ อาจจะลุกลามไปจนถึงสินเชื่อแบงก์ และเป็นหนี้เสียได้”

ตาราง ปันผล

Advertisment

ความท้าทายปีมังกร

“กรกช เสวตร์ครุตมัต” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4/2566 ของหุ้นกลุ่มแบงก์ 7 แห่ง (BAY, BBL, KKP, KTB, SCB, TISCO, ttb) มีกำไรรวมอยู่ที่ 4.1 หมื่นล้านบาท ลดลง 13% เทียบไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) แต่เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน (YOY) โดยผลประกอบการต่ำกว่าที่คาดไว้ 7% จากการตั้งสำรอง (ECL) ที่สูงขึ้น มีเพียง ttb และ SCB เท่านั้นที่ผลประกอบการแข็งแกร่งเกินคาด อย่างไรก็ตาม SCB ยังเห็นการเพิ่มขึ้นของ NPL ที่ต้องจับตา

โดยปีนี้ กลุ่มแบงก์จะไม่ค่อยดีมากนัก เนื่องจากสิ่งที่จะกระตุ้นการเติบโตของกำไรปีนี้ไม่ค่อยมี อย่างการปล่อยสินเชื่อ เกือบทุกธนาคารอยู่ในโหมดการตั้งรับ นอกจากนี้ จำนวนเงินสำรอง (Margin) ที่เป็นสิ่งกระตุ้นกำไรเมื่อปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าเริ่มหมดแล้ว ซึ่งแบงก์ยังมีการแข่งขันเรื่องเงินฝากที่สูงขึ้น ส่วนดอกเบี้ยน่าจะยังอยู่ในเกณฑ์คงที่ และอาจจะปรับลดลง รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมไม่ค่อยมี และอาจจะมีการติดตั้งระบบไอทีเพิ่มเติม รวมถึงในปีนี้ไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือที่โดดเด่นจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

“ในปีนี้คาดกำไรกลุ่มแบงก์โดยรวมจะโตประมาณ 5% (ยังไม่รวมกรณีปรับลดดอกเบี้ย) ดังนั้นโดยรวมคิดว่ายังไม่ใช่ช่วงเวลาที่น่าลงทุน อาจจะต้องมีการเลือกลงทุนรายตัวมากกว่า ซึ่งเราคาดว่า ttb, SCB และ TISCO จะให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่น่าสนใจที่ 6.99%, 7.84% และ 7.5%”

ปี’67 “SCB-ttb” เด่น

“เบย์ ตันติศรีสุข” นักวิเคราะห์กลุ่มธนาคาร บล.เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2567 มีความท้าทาย 3 เรื่องหลัก คือ 1.สินเชื่อค่อนข้างอ่อนแอ จากทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ และธนาคารระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงลูกหนี้ระมัดระวังในการกู้เงินจากดอกเบี้ยที่สูง 2.ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่มีแนวโน้มลดลง จากการที่ดอกเบี้ยนโยบายผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และ 3.คุณภาพสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มยังอ่อนตัว โดยสินเชื่อที่น่ากังวลมากที่สุด คือ สินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อเอสเอ็มอี

“การลงทุนหุ้นในกลุ่มแบงก์ มองธนาคารที่มีการบริหารจัดการเงินทุนที่ดี รวมถึงมีการจ่ายเงินปันผลที่น่าสนใจ เด่นสุด คือ SCB ให้ราคาเป้าหมาย 128 บาท/หุ้น เพราะคาดว่า Dividend Yield จะอยู่ในระดับสูงที่ 7% สูงที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่อื่น ๆ และแนะนำ ttb ให้ราคาเป้าหมาย 1.90 บาท/หุ้น จากเงินปันผลที่โดดเด่นเช่นเดียวกัน”