“กสิกรฯ-ยูโอบี” หวังแรงส่งลงทุนรัฐหนุนสินเชื่อเอสเอ็มอีปี’61 โต

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า คาดว่าสิ้นปี 2561 สินเชื่อเอสเอ็มอีคงค้างของแบงก์จะเติบโต 4-6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งลูกค้าเอสเอ็มอีจะเบิกใช้วงเงินสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลังมากขึ้น ในหมวดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

โดยในช่วงไตรมาส 2 นี้ ธนาคารจะเน้นขยายสินเชื่อเอสเอ็มอีในกลุ่มลูกค้าที่มีวงเงินแต่ยังไม่เบิกใช้ และกลุ่มที่เป็นซัพพลายเชนของธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะเป็นกลุ่มที่มียอดขายต่อเนื่อง หลังไตรมาสแรกที่ผ่านมา สินเชื่อเอสเอ็มอีคงค้างมีการเติบโต 1-2% เป็นยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ 57,000 ล้านบาท ถือว่าทรงตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะยังต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อในบางเซ็กเมนต์ เช่น เกษตร ฯลฯ เป็นต้น

ส่วนช่วงไตรมาส 2 นี้ ต้องจับตาสงครามการค้าสหรัฐกับจีนที่อาจกระทบการส่งออกของไทยไปยังจีน รวมถึงสถานการณ์หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่คาดว่า จุดสูงสุดของเอ็นพีแอลปีนี้น่าจะผ่านมาแล้วในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สำหรับเอ็นพีแอลเอสเอ็มอีของธนาคาร ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 5% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปีก่อน และยอดผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกในไตรมาสแรกก็ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ให้เอสเอ็มอี จึงน่าจะส่งผลให้ตัวเลขเอ็นพีแอลปรับตัวดีขึ้น

นางสยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า ไตรมาส แรกปีนี้ ธนาคารมียอดสินเชื่อปล่อยใหม่ที่ 3,000 ล้านบาท เติบโตกว่า 10% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ถือได้ว่ายังชะลอตัว เพราะลูกค้าบางส่วนกังวลต่ออัตราแลกเปลี่ยน ทำให้การลงทุน การใช้สินเชื่อยังไม่มากนัก อย่างไรก็ดี ในเดือน มี.ค. สินเชื่อเอสเอ็มอีเริ่มดีขึ้นและน่าจะเห็นเติบโตสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป โดยมีปัจจัยบวกจากการลงทุนภาครัฐ และเศรษฐกิจที่จะโต 4%

ทั้งนี้ คาดว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีปล่อยใหม่ของธนาคารในปี 2561 นี้จะเติบโตกว่า 10% โดยปัจจุบันสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารมียอดคงค้าง 50,000 ล้านบาท ฐานลูกค้า 11,000 ราย

“ปีนี้หลายอุตสาหกรรมยังเติบโตดี โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการและการท่องเที่ยว เช่น ขนส่ง อาหาร หรือที่พักเชิงโฮมสเตย์ก็ยังได้รับความนิยม” นางสยุมรัตน์กล่าว