วางแผนภาษี เรื่องควรรู้ก่อนจดทะเบียนสมรส

ภาษี My Tax Account
บทความโดย "มาลียา จูฑะเตมีย์"
นักวางแผนการเงิน CFP®

 

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 เดือนกุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรัก หลาย ๆ คู่ก็นิยมที่จะถือเอาฤกษ์งามยามดี วันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์ เป็นวันที่ไปจดทะเบียนสมรสกัน

ทะเบียนสมรส คือ เอกสารทางกฎหมายที่ยืนยันความสัมพันธ์ของคู่แต่งงาน ที่ใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันสิทธิต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นระหว่างสามี-ภรรยา เช่น สิทธิของบุตรที่จะเกิดขึ้น สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน สิทธิในการรับเงินจากทางราชการหรือนายจ้างตามกฎหมายแรงงาน สิทธิในการฟ้องร้องกรณีละเมิดแทนคู่สมรสของตัวเอง สิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายหากพบว่าคู่สมรสมีชู้

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การสมรสจดทะเบียนยังให้สิทธิประโยชน์ในเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแก่คู่สมรสอีกด้วย โดยสิทธิที่เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป ก็คือ สิทธิประโยชน์เรื่องการลดหย่อนภาษี

กรณีที่คู่สมรสไม่มีเงินได้ สามารถหักค่าลดหย่อนคู่สมรส ลดหย่อนบิดามารดาของคู่สมรส รวมถึงนำเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรส และเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของคู่สมรส มาหักได้หากยื่นร่วม ส่วนกรณีที่คู่สมรสมีเงินได้ด้วยกันทั้งคู่ ในหลายกรณีการแยกยื่นแบบมักส่งผลดีมากกว่า

แต่จริง ๆ แล้วการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับคนที่มีคู่สมรสนั้น สามารถวางแผนการยื่นแบบได้หลายวิธี ซึ่งเราสามารถวางแผนคำนวณเปรียบเทียบทางเลือกเพื่อให้ประหยัดภาษีได้มากที่สุดได้ โดยมีสิ่งที่ต้องพิจารณา 3 ประเด็น คือ ประเภทเงินได้ จำนวนเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว และค่าลดหย่อนของทั้งคู่

ประเด็นที่ 1 : ประเภทเงินได้

ตามมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการเก็บภาษีเงินได้จากสามีภรรยาไว้ สรุปความได้ว่า เรามีสิทธิที่จะยื่นเงินได้รวมกันทั้งหมด แยกยื่นทั้งหมด หรือแยกยื่นเฉพาะเงินได้ 40 (1) ส่วนเงินได้ประเภทอื่น ๆ ยื่นรวมกันในชื่อใครคนหนึ่งก็ได้ และยังสามารถแบ่งรายได้ที่ไม่อาจแยกได้ว่าเป็นของใครออกเป็นอย่างละครึ่ง หรือกำหนดสัดส่วนสำหรับเงินได้ประเภท 40 (8) ได้เองอีกด้วย

ซึ่งประเด็นนี้เป็นประโยชน์มากในการวางแผนภาษีโดยเฉพาะกรณีที่คู่สมรสมีเงินได้ที่ไม่ใช่ 40 (1) เพราะเราสามารถจัดสรรเงินได้ไปให้คู่สมรสเพื่อกระจายฐานภาษีได้

ประเด็นที่ 2 : จำนวนเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว

เนื่องจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอัตราภาษีแบบอัตราก้าวหน้า โดยทั่วไปหากต่างฝ่ายต่างมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย หรือมีเงินได้สุทธิมากกว่า 150,000 บาท การยื่นรวมกันจะทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาประเด็นเรื่องประเภทเงินได้ และค่าลดหย่อนของทั้งคู่ประกอบด้วย

ประเด็นที่ 3 : ค่าลดหย่อนของทั้งคู่

ได้แก่ ค่าดูแลบุพการี เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดาของแต่ละฝ่าย

ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นนี้ ต้องพิจารณาร่วมกัน และทางที่ง่ายที่สุดก็คือ การลองคำนวณยอดภาษีเงินได้ที่ต้องเสียดู ว่าการยื่นแบบใดจะทำให้สามารถประหยัดภาษีได้มากที่สุด

จากตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่า เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบในการยื่นแบบ เป็นแยกยื่นเฉพาะ 40 (1) ก็ช่วยประหยัดภาษีไปได้ถึง 41,400 บาท

ท่านใดที่มีคู่สมรสจดทะเบียนอยู่แล้ว ลองคำนวณเปรียบเทียบทางเลือกแต่ละแบบดูว่าวิธีใดทำให้เสียภาษีน้อยกว่า ส่วนท่านใดที่ยังลังเลว่าจะจดทะเบียนสมรสดีหรือไม่ ก็ลองยกข้อดีในเรื่องประโยชน์ทางภาษีนี้ไปให้คู่ของท่านพิจารณาได้ เผื่อท่านจะได้ชวนคู่ของท่านมาแต่งงาน จดทะเบียนสมรสกัน