EXIM BANK ปักหมุด 3 ปี ดันพอร์ตสีเขียว 50% สร้าง “ESG Scoring” ประเมินต้นทุน

EXIM BANK ปักหมุด 3 ปี ดันพอร์ตสีเขียว 50% สร้าง “ESG Scoring” ประเมินต้นทุน

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK ตั้งเป้า 3 ปี ดันสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อสีเขียวและความยั่งยืนสู่ระดับ 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 35% ของยอดคงค้าง 1.75 แสนล้านบาท พร้อมเดินหน้าปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3.99% ต่อปี หนุนลูกค้าเพื่อปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียว ปักหมุดออก Blue Bond เพิ่ม สร้าง “ESG Scoring” ประเมินลูกค้าเข้าถึงแหล่งเงินต้นทุนดอกเบี้ยถูก

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวในโอกาสครบรอบ 30 ปีว่า ภายใต้เป้าหมายของไทยที่มุ่งไปสู่ Carbon Neutrality ในปี 2573 และ Net Zero Emissions ในปี 2593 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนดังกล่าว ธนาคารได้ตั้งเป้าภายใน 3 ปีข้างหน้า จะเพิ่มสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อคงค้างประมาณ 50% ให้เป็นพอร์ตที่มีความยั่งยืน (ESG Portfolio) จากปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างราว 1.75 แสนล้านบาท มีสัดส่วน Green Portfolio ราว 35%

อย่างไรก็ดี ภายใต้บทบาท Green Development Bank จะดำเนินกลยุทธ์ Greenovation ที่จะสร้าง Green Supply Chain ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อสนับสนุนลูกค้า จะเห็นว่าธนาคารมีผลิตภัณฑ์สีเขียวที่ให้ต้นทุนที่ต่ำลงเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สามารถเข้าถึง เพื่อ Go Green เช่น สินเชื่อเพื่อการปรับตัว หรือการติดตั้งโซลาร์รูฟ อัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี

นอกจากนี้ ธนาคารมีการพัฒนาเครื่องมือที่เรียกว่า “ESG Scoring” ที่จะนับคะแนนลูกค้าที่สามารถปรับตัว โดยจะนำมาพิจารณาในการคิดต้นทุนการเงินที่ถูกลง รวมถึงปีนี้ธนาคารตั้งเป้าจะออกตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล (Blue Bond) สกุลเงินบาท โดยให้ ADB เป็นที่ปรึกษาจัดทำ Framework ซึ่งธุรกิจเป้าหมาย คือ ธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรมและท่องเที่ยว (Hospitality) และขนส่งทางทะเล (Marine Logistics) หลังจากปี 2565 ธนาคารออก Green Bond ไปแล้ว 5,000 ล้านบาท และในปี 2566 ออก SMEs Green Bond อีก 3,500 ล้านบาท

“เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก และปรับตัวทางธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตได้ เนื่องจากธุรกิจที่คำนึงถึง ESG มีการเติบโตของรายได้และกำไรมากกว่าธุรกิจทั่วไปกว่า 2 เท่าตัว เราต้องการสร้างนักรบสีเขียว เพราะหากดูปริมาณการส่งออกที่เป็นสีเขียวของเรายังไม่ถึง 8% เมื่อเทียบกับคู่เทียบคู่แข่งไปถึง 15% เรายังห่างจากเขา 2 เท่า ดังนั้น ในอีก 3 ปีข้างหน้าเราจะเพิ่มสัดส่วนพอร์ตสีเขียวหรือ ESG เป็น 50% ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อในต้นทุนที่รายกลางสามารถเข้าถึงได้”

ดร.รักษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันธนาคาร EXIM BANK เดินทางมา 30 ปีแล้ว โดยในช่วง 10 ปีแรก ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ดูแลธุรกรรมการเงินให้กับธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ หรือ Export Bank ให้มีความสะดวกมากขึ้น เนื่องจากไทยเป็นเสือตัวที่ 5 เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย คือ ภาคการส่งออก โดยตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ราว 17 ล้านล้านบาท โดยจะพบว่าประมาณ 10 ล้านล้านบาท มาจากภาคการส่งออก

ดังนั้น ธนาคารต้องเข้ามาอำนวยความสะดวกและสร้าง Transaction Trading และหลังจากนั้น 10 ปีต่อมา ธนาคารพาณิชย์มารับช่วงต่อ EXIM BANK จึงหันยกระดับขึ้นมาเป็นการนำพาธุรกิจไปลงทุนในธุรกิจที่สำคัญ หรือ Infrastructure Bank ในต่างประเทศ ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับธนาคาร JBIC เป็นการช่วยต่อยอดให้กับธุรกิจของธนาคาร

โดยถัดมาอีก 10 ปีนี้ ประเทศไทยเจอวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ธนาคารได้เข้าไปช่วยเติมสภาพคล่องให้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก ๆ อย่างเช่น สายการบิน บริษัทเดินเรือ สวนสัตว์ ให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้ และชำระหนี้ครบทั้งหมดแล้ว ดังนั้น ธนาคารทำหน้าที่ “ซ่อม” และถัดจากนี้ไปธนาคารจะมุ่งนำพาผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ Global Green Supply Chain ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจสีเขียว

“ตอนนี้เรื่องเศรษฐกิจสีเขียว เรายังช้าเมื่อเทียบกับคู่เทียบอย่างเวียดนาม อาทิ การใช้กระแสไฟสะอาดที่เวียดนามใช้อยู่ 1 ใน 5 ของไทยยังไม่ถึง และเราต้องเร่งทำ ซึ่งธนาคารไม่ใช่นำพาเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ แต่จะให้ความสำคัญกับคนตัวเล็กกว่า 90% ในการปรับตัว”