ธปท.ยอมรับลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเพิ่มสูงสุดใน 6 ประเทศ

ธปท.

ธปท.เผยลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือขยับเพิ่มขึ้นแซงหน้า 6 ประเทศ สะท้อนกลุ่มเปราะบางยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจชะลอ-ธนาคารเร่งช่วยเหลือ ระบุยอดภาระหนี้ 3.52 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 6.37 ล้านบัญชี คิดเป็นสัดส่วน 11% ของพอร์ตสินเชื่อรวม เทียบอินโดนีเซีย-มาเลเซีย 1-5% ด้านหนี้เสียไตรมาส 4/66 ปรับลดลงเหลือ 2.66% หรือ 4.92 แสนล้านบาท หลังธนาคารเร่งบริหารจัดการ-ชำระคืนหนี้ ฟากผลประกอบการปี’66 รายได้ดอกเบี้ยหนุนกำไรสุทธิพุ่ง 2.51 แสนล้านบาท

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในส่วนของภาคครัวเรือนไตรมาส 4 นั้น คาดว่าจะขยับอยู่ที่ประมาณ 91% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 อยู่ที่ 90.9% ขณะที่แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) คาดว่าน่าจะมีการขยับเพิ่มขึ้น เนื่องจากกลุ่มเปราะบางรายได้ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระ หรือรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาท

โดย ธปท.ได้พยายามมีมาตรการให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือ จึงทำให้เอ็นพีแอลจะไม่เกิดเป็นหน้าผาหรือตกหน้าผา และหากดูธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ก็มีมาตรการช่วยเหลือ เช่น ลูกหนี้เกษตรกร หรือกลุ่มรหัส 21 (กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19) และจะมีการปรับมาตรการให้เข้มข้นขึ้น

“จะเห็นว่าในช่วงวิกฤตปี 2540 หนี้เอ็นพีแอลสูงถึง 47% แต่หลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 ไทยมีประสบการณ์จากช่วงปี 2540 ทำให้มีการผลักดันมาตรการช่วยเหลือ รวมถึงการปรับเปลี่ยนมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทำให้สามารถดูแลบริหารจัดการให้อยู่ในระดับ 2% แต่ไม่เกิน 3% ดังนั้น รวมหนี้เอ็นพีแอลของ SFIs น่าจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3% ต้น ๆ”

ขณะเดียวกัน หากดูลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ จะพบว่ายังเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยยอดภาระหนี้ธนาคารพาณิชย์ น็อนแบงก์ และ SFIs อยู่ที่จำนวน 3.52 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 6.37 ล้านบัญชี สะท้อนว่าลูกค้ายังคงต้องการความช่วยเหลือ และเจ้าหน้าที่ยังคงให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง ทำให้เห็นว่าสัดส่วนการช่วยเหลือลูกหนี้ของไทยสูงกว่าประเทศอื่น โดยสัดส่วนอยู่ที่ราว 11% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด ทั้งนี้ หากเทียบกับ 6 ประเทศที่มีการสำรวจ จะเห็นว่าออสเตรเลียและนิวซีแลนด์อยู่ที่ 1% ของพอร์ตสินเชื่อรวม อินโดนีเซีย-จีน-มาเลเซียอยู่ที่ 1-5% หรืออินโดนีเซียอยู่ที่ 4%

อย่างไรก็ดี การช่วยเหลือลูกหนี้จะเห็นว่าประมาณ 80-90% จะเป็นการช่วยเหลือก่อนจะเป็นหนี้เสีย เนื่องจากต้นทุนที่เกิดจากหนี้เสียจะสูง ทำให้ธนาคารเร่งช่วยเหลือ อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่ามีลูกค้าที่ปรับหลายรอบและไม่สามารถผ่อนไหว จึงเป็นวงจรปกติที่เข้าสู่กระบวนการ ยึดบ้านและรถ แต่ปรับลดลง

“จากการสำรวจของ Report Agency ไทยเราอยู่บรรทัดบนสุดเมื่อเทียบกับ 6 ประเทศในการช่วยเหลือลูกหนี้ ส่วนจะสะท้อนว่าเรามีลูกหนี้เปราะบางหรือไม่นั้น จะเห็นว่าหนี้ส่วนใหญ่ของเราจะเป็นการก่อหนี้ครัวเรือน ประกอบกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังไม่กลับมา เราจึงยังเข้มข้นในการช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งจะเห็นว่าตัวเลขการไหลจาก SM เป็น NPL ปรับลดลง แม้ว่าจะมีคนค้างใน SM มากขึ้น เนื่องจากมีคนค้างค่างวดแต่ไม่เกิน 3 เดือน เพื่อเป็นการคงสถานะ และมองไปข้างหน้าหากเราเข้มข้นในการแก้หนี้ ก็จะทำให้ตัวเลขการไหลจะน้อยลง”

หนี้เสียขยับลงเหลือ 2.66% เหตุชำระหนี้คืน-แบงก์เร่งปรับโครงสร้าง

นางสาวอัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมของคุณภาพสินเชื่อ หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในไตรมาสที่ 4/2566 ปรับลดลงจากไตรมาส 3/2566 โดยอยู่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท หรืออยู่ที่ 4.92 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.66% ลดลงจาก 2.70% ส่วนหนึ่งมาจากธนาคารมีการบริหารจัดการหนี้ต่อเนื่อง และลดลงจากสินเชื่อธุรกิจเป็นหลัก รวมถึงการกลับมาชำระคืนหนี้

ทั้งนี้ หากดูไส้ในรายสินเชื่อ จะพบว่า สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ปรับดีขึ้นจาก 2.67% มาอยู่ที่ 2.57% โดยลูกหนี้บางรายมีการชำระคืนหนี้ และมีการปรับโครงสร้างหนี้ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ปรับดีขึ้นจากการชำระคืนหนี้ แต่ตัวเลขขยับเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากฐานสินเชื่อที่ลดลง

ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคมีการด้อยคุณภาพลงทุกประเภทสินเชื่อ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางและรายได้น้อย ทำให้เอ็นพีแอลทยอยปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.88% จาก 2.79% หากดูไส้ในเอ็นพีแอลสินเชื่อบ้านอยู่ที่ 3.33% จาก 3.24% สินเชื่อส่วนบุคคล 2.48% จาก 2.38% สินเชื่อรถยนต์ 2.13% จาก 2.10% และสินเชื่อบัตรเครดิต 3.57% จาก 3.34%

และหากดูสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Stage 2) หรือ SM พบว่า ปริมาณปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า โดยอยู่ที่ 5.86% จาก 5.84% โดยมาจากสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยสินเชื่อธุรกิจวงเงินต่ำกว่า 500 ล้านบาท (เอสเอ็มอี) ขยับเป็น 11.0% จาก 10.65% และวงเงินมากกว่า 500 ล้านบาท (รายใหญ่) อยู่ที่ 3.49% จาก 3.61%

ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.86% จาก 6.66% ซึ่งมาจากสินเชื่อบ้านมาอยู่ที่ 4.96% จาก 4.45% และสินเชื่อส่วนบุคคล 4.66% จาก 4.45% แต่แนวโน้มสินเชื่อรถยนต์เริ่มลดลง 14.29% จาก 14.55%

“สินเชื่อบ้านและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ปรับเพิ่มนั้นหลัก ๆ เป็นผลจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพและมีลูกหนี้บางส่วนรับความช่วยเหลือแล้ว แต่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ ส่วนสินเชื่อธุรกิจนั้นปรับลดลง ยกเว้นภาคก่อสร้าง และ Stage 2 สินเชื่อเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นจากพาณิชย์และก่อสร้าง โดยเราบางธนาคารเริ่มมีการจัดชั้นความเสี่ยงหรือจัดชั้นคุณภาพมากขึ้น”

สำหรับภาพรวมสินเชื่อของระบบหดตัวเล็กน้อย -0.3% จาก -0.9% แต่มีการเติบโตสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่ออุปโภคบริโภค ขณะที่สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีหดตัว -5.1% จาก -5.5% ส่วนรายใหญ่ อยู่ที่ -0.01-0.3% สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัว 2.3% อย่างไรก็ดี หากรวมสินเชื่อของบริษัทลูกและบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงิน จะพบว่า สินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์หดตัว แต่เมื่อรวมบริษัทในกลุ่มสามารถขยายตัว 0.5%

อานิสงส์รายได้ดอกเบี้ยปี’66 แบงก์โกยกำไร 2.51 แสนล้าน

ด้านผลประกอบการปี 2566 ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ประมาณ 2.51 แสนล้านบาท จาก 2.38 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งของการปรับเพิ่มขึ้นมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น แม้ว่าต้นทุนทางการเงินจะปรับเพิ่มหรือค่าใช้จ่ายสำรองและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น แต่หากเทียบไตรมาส 3/2566

พบว่า ผลประกอบการปรับลดลง หลัก ๆ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น ขาดทุนจากการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขาย ค่าใช้จ่ายสำรองที่ยังมากขึ้น โดยธนาคารพาณิชย์กันสำรองสูงต่อเนื่องแม้จะลดลงจากช่วงโควิด เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจซึ่งทำให้อัตราส่วนทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ทั้งส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM), ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) และอัตราผลตอบแทนส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ไตรมาส 4/2566 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2566