สรรพสามิตมุ่ง “กรม ESG” ซัพพอร์ต อีวี 3.5-ลุยเก็บภาษีคาร์บอน

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

“เป้าการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตในปี 2567 ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังอยู่ที่ 598,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 31,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.5% แต่กรมยังมีหน้าที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและช่วยเหลือดูแลค่าครองชีพประชาชนตามนโยบายรัฐบาลด้วย

โดยเฉพาะการลดภาษีน้ำมันดีเซลในปีที่ผ่านมา 5 บาท/ลิตร และ 1 บาท/ลิตร ทำให้สูญเสียรายได้ไปประมาณกว่า 100,000 ล้านบาท” คำกล่าวของ “ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพสามิต ที่ให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางนโยบาย ในโอกาสที่กรมสรรพสามิต ครบรอบ 92 ปี

เดินหน้า “กรม ESG” ต่อเนื่อง

“ดร.เอกนิติ” กล่าวว่า ในปี 2567 กรมสรรพสามิตยังเดินหน้าเป็น “กรม ESG” หรือมีนโยบายที่สนับสนุนสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) อย่างต่อเนื่อง ผ่านการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ EASE Excise

โดยมุ่งเน้นนโยบายภาษีสรรพสามิตที่ส่งเสริมภาษีสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ได้แก่ มาตรการภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) นโยบายส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV 3.5 มาตรการปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่เพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีรถยนต์เพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุ

“หนุนอีวี-เก็บภาษีคาร์บอน”

“มาตรการอุดหนุนราคารถยนต์อีวี อันนี้คือการขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ตรงนี้จะเห็นเลยว่าภาษีที่ลดลง ทําให้ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมียอดขายอีวีในปีที่ผ่านมากว่า 70,000 คัน สูงกว่าปีก่อนหน้าถึง 646% เติบโตอันดับ 1 ในอาเซียน ในขณะที่ประเทศไทยมียอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 21,677 คัน เติบโตจากปี 2565 ถึง 125%”

นอกจากนี้ เงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตกำหนดให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการต้องผลิตรถยนต์ EV ในไทยชดเชย และมาตรการส่งเสริมการลงทุน ทำให้การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนกว่า 6.1 หมื่นล้านบาท เป็นการรักษาฐานการผลิตของประเทศไทย และมุ่งเน้นสิ่งแวดล้อมด้วย

ขณะที่ภาษีคาร์บอนนั้น รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และปัจจุบันมีหลายธุรกิจที่ปล่อย CO2 สูงมาก อาทิ สินค้ากลุ่มพลังงานและกลุ่มขนส่ง ประมาณ 70-80% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งการจัดเก็บภาษีในส่วนนี้จะสอดคล้องกับกติกาโลก และมาตรฐานสากลด้วย

รื้อภาษียาสูบ-เก็บบุหรี่ไฟฟ้า

ในด้านสุขภาพนั้น “เอกนิติ” กล่าวว่า กรมอยู่ระหว่างศึกษาปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบ โดยหารือร่วมกับหลาย ๆ หน่วยงาน ต้องยอมรับว่า มีความต้องการที่หลากหลาย โดยหากพิจารณาจากบทเรียนการศึกษาของต่างประเทศ จะพบว่า ทั่วโลกมีการจัดเก็บภาษีแบบ 2 อัตรา อยู่เพียง 7 ประเทศเท่านั้น

ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารโลก (World Bank), ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สนับสนุนว่าควรมีการจัดเก็บภาษียาสูบแบบอัตราเดียว ทำให้ต้องรับฟังความเห็นและมุมมองอย่างครบถ้วน ซึ่งผลการศึกษาใกล้จะมีความชัดเจนออกมาแล้ว

อย่างไรก็ดี ในปีนี้กรมจะผลักดันกำหนดพิกัดบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไปอยู่ในพิกัดภาษีสรรพสามิต เพราะปัจจุบันมีความนิยมบริโภคเป็นอย่างมาก แม้ว่าสินค้าดังกล่าวจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่กรมไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ โดยเฉพาะการขายในระบบออนไลน์ ก็ตรวจพบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก เพิ่มขึ้น 40% ซึ่งการปราบปราม ต้องส่งเรื่องให้ตำรวจดำเนินคดี

“ภาษีบุหรี่นั้น มีความซับซ้อน ในอดีตถือว่าเป็นสินค้าที่หาสิ่งทดแทนได้ยาก แต่ปัจจุบันทดแทนได้ง่าย คือ บุหรี่ไฟฟ้า โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้บริโภคบุหรี่ลดลง สวนทางกับบุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ได้อยู่ในพิกัดภาษี ทำให้เมื่อตรวจพบไม่สามารถปราบปรามได้ เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจ เช่นเดียวกับกัญชา ใบกระท่อม ต้องส่งให้ตำรวจดำเนินคดีเท่านั้น”

“ภาษีไวน์-สุราชุมชน” ปรับใหม่

“อธิบดีกรมสรรพสามิต” กล่าวอีกว่า จากที่รัฐบาลได้ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติปรับโครงสร้างภาษีอากรและภาษีสรรพสามิต สุรา และไวน์ เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2567 ซึ่งเมื่อบังคับใช้ จะทำให้ภาษีไวน์ลดลงเหลือประมาณ 100 บาทต่อขวด เช่นเดียวกับการปรับโครงสร้างภาษีสุราพื้นบ้าน ก็เพื่อส่งเสริมรายได้ชุมชน

“ยอมรับว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เริ่มเห็นการชะลอการซื้อ-ขายไวน์ ซึ่งถือเป็นธรรมชาติของการทำธุรกิจ แต่กรมได้มีการประสานไปยังผู้ประกอบการล่วงหน้าแล้วว่า กฎกระทรวงเรื่องการปรับปรุงอัตราภาษีไวน์และสุราแช่พื้นบ้าน ไวน์ผลไม้ สุราแช่ชนิดอื่น ๆ จะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมตัว”

“คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และคาดว่าจะส่งผลให้กรมสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 900 ล้านบาท ถึง 1,000 ล้านบาท และโครงสร้างภาษีใหม่จะทำให้ราคาขายปลีกแนะนำสอดคล้องและสะท้อนราคาที่เป็นจริงมากขึ้น และทำให้มีการหลีกเลี่ยงภาษีได้ยากยิ่งขึ้นด้วย”

นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตจะมีการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการช่วยจัดเก็บภาษีไวน์ เพียงสแกนลงไปที่แสตมป์ จะพบข้อมูลของไวน์ขวดนั้น ๆ ว่า มาจากประเทศอะไร ราคาเท่าใด ซึ่งจะสะท้อนราคาที่เป็นจริง และทำให้การหลบเลี่ยงภาษีทำได้ยากมากขึ้น ประชาชนก็สามารถตรวจสอบสินค้าไวน์ได้ว่าเป็นของจริง หรือเป็นสินค้าหลบเลี่ยงภาษีหรือไม่ เป็นการทำให้ระบบโปร่งใสมากขึ้น

ยกระดับมาตรฐานเก็บภาษี

“อธิบดีกรมสรรพสามิต” กล่าวด้วยว่า ขณะที่ด้านพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ จะมุ่งเน้นการยกระดับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้ทำงานได้คล่องตัว (Agile Ways of Working) และพัฒนาทักษะที่จำเป็นในอนาคต (Future Skills) เช่น AI และ Data Analytics รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรให้เก่ง ดี มีความสุข

ด้านพัฒนากระบวนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตให้มีมาตรฐาน (Standardization) เช่น การวางมาตรฐานธรรมาภิบาลข้อมูล และวางมาตรฐานการปราบปรามผู้กระทำผิดเชิงรุกกับหน่วยงานปราบปรามที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการทบทวนกฎหมายภาษีสรรพสามิตที่บังคับใช้ในปัจจุบัน หรือยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย หรือลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น (Regulatory Guillotine)

นอกจากนี้ ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการให้บริการแบบไร้รอยต่อ (End-to-end Service) เพื่อให้ประชาชนผู้รับบริการได้รับความสะดวกและเจ้าหน้าที่เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่รวดเร็ว เพื่อให้เกิดประสบการณ์ที่ดีกับการให้บริการของกรมสรรพสามิต