
เปิดข้อมูลธนาคารไหนเรียกเก็บค่าธรรมเนียม “ค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน” หรือ FX Rate เท่าไรบ้าง หลัง 1 พ.ค. 67 วีซ่า-มาสเตอร์การ์ด จ่อเก็บค่า DCC Fee เพิ่มอีก 1%
วันที่ 4 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีประกาศธนาคารเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท Dynamic Currency Conversion Fee (DCC Fee) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป
โดยรายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตวีซ่า/มาสเตอร์การ์ดเพื่อชำระค่าสินค้า หรือบริการด้วยสกุลเงินบาท ณ ร้านค้า ในต่างประเทศ ร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียน ในต่างประเทศ และการกดเงินสดที่เลือกเป็นสกุลเงินบาทผ่านตู้ ATM ในต่างประเทศ จะถูกเรียกเก็บ “ค่าธรรมเนียมการ แปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท” ในอัตรา 1% ของยอดใช้จ่ายและยอดกดเงินสดในสกุลเงินบาท
นอกจาก ค่าธรรมเนียม DCC Fee ที่ลูกค้าผู้ใช้บัตรเครดิตจะต้องเสียเพิ่ม 1% ตั้งแต่ 1 พฤษภาคมนี้แล้ว แต่ลูกค้ายังมีค่าธรรมเนียมค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน (FX Rate) เมื่อใช้บัตรเครดิตรูดใช้จ่ายในต่างประเทศ ซึ่งธนาคารส่วนใหญ่จะคิดในอัตรา 2-2.5% ของยอดใช้จ่าย ทั้งนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” จะพามาดูธนาคารไหนเรียกเก็บค่าธรรมเนียม FX Rate อยู่ที่เท่าไรกันบ้าง
เริ่มจาก “ธนาคารทหารไทยธนชาต” หรือ “ทีทีบี” เสนอบัตรเครดิต ttb absolute คิดค่าธรรมเนียมจากการแปลงสกุลเงิน เพียง 1% จากปกติ 2.5%
นอกจากนี้ แนะลูกค้าหันมาใช้บัตรเดบิต “ttb all free” ไม่มีค่าธรรมเนียม FX Rate 2.5% และค่า DCC Free 1% และสามารถกดเงินสดที่ตู้ ATM ต่างประเทศค่าธรรมเนียมถูกเพียง 75 บาท/ครั้ง (โดยอาจมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับ ATM ของแต่ละประเทศ)
ธนาคารกสิกรไทย ยังคงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน FX Rate 2.5% ของอัตราแลกเปลี่ยนกลางของบริษัทที่ธนาคารเป็นสมาชิก ทั้งในส่วนของบัตรเครดิตและเดบิต
ธนาคารกรุงเทพ ไม่เกิน 2.5% ของค่าใช้จ่าย ทั้งในส่วนบัตรเครดิต-บัตรเดบิต
ธนาคารกรุงไทย บัตรเดบิต จะเรียกเก็บค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน 2.5% จากจำนวนเงินที่ทำรายการ
ธนาคารไทยพาณิชย์ กรณีใช้บัตรเดบิตทุกประเภท (Visa/Master Card) จะเรียกเก็บค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน ไม่เกิน 2.5% จากจำนวนเงินที่ทำรายการ
บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด คิดค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน 2.5% ของรายการใช้จ่ายหรือเบิกถอนเงินสดที่เกิดขึ้นเป็นสกุลเงินต่างประเทศ
บริษัท กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการบัตรเครดิต และเฟิร์สช้อยส์ คิดอัตราค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงิน ไม่เกิน 2.5% ของยอดใช้จ่ายสกุลเงินต่างประเทศ
ธนาคารยูโอบี คิดค่าธรรมค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินไม่เกิน 2.5% ของยอดการใช้จ่ายหรือเบิกถอนเงินในต่างประเทศต่อครั้ง ทั้งในส่วนของบัตรเครดิตและเดบิต
บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “เคทีซี” คิดค่าธรรมเนียมค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน ไม่เกิน 2% ของอัตราอ้างอิงเบื้องต้นของบริษัทบัตรเครดิตที่เคทีซีเป็นสมาชิก เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน
บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) หรือ “อิออน” คิดค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน สูงสุดไม่เกิน 2.5% ของอัตราแลกเปลี่ยนกลางที่กำหนดโดยผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรเครดิตที่บริษัทเป็นสมาชิก
อย่างไรก็ดี บัตรเติมเงิน (Prepaid Card) หรือ “Traval Card” ผู้ถือบัตรสามารถรูดซื้อสินค้าและบริการในต่างประเทศแทนเงินสด โดยไม่มีค่าธรรมเนียมค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน 2.5% ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีบัตรเครดิต และไม่ต้องกังวลเรื่องค่าธรรมเนียมจาก DCC Fee อีกด้วย ซึ่งปัจจุบัน Travel Card ในตลาดมีอยู่หลายบัตร อาทิ Youtrip กสิกรไทย, Travel Card กรุงไทย และ Planet ไทยพาณิชย์ เป็นต้น