เปิดข้อมูล DCC 1% กับ FX Rate 2.5% เลือกรูดจ่ายแบบไหนดีกว่ากัน

บัตรเครดิต

เปิดข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในต่างประเทศ ผู้ถือบัตรเลือกเสียค่าธรรมเนียม “DCC Fee 1%” กับ “FX Rate 2.5%” แบบไหนคุ้มค่า/หรือดีกว่ากัน เพราะสาเหตุใด หลังวีซ่า/มาสเตอร์การ์ด จ่อเก็บ DCC Fee 1 พ.ค.นี้

วันที่ 11 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่สถาบันการเงิน ทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร (น็อนแบงก์) ผู้ให้บริการบัตรเครดิต มีการประกาศเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท Dynamic Currency Conversion Fee (DCC Fee) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

โดยรายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตวีซ่า/มาสเตอร์การ์ดเพื่อชำระค่าสินค้า หรือบริการด้วยสกุลเงินบาท ณ ร้านค้า ในต่างประเทศ ร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียน ในต่างประเทศ และการกดเงินสดที่เลือกเป็นสกุลเงินบาทผ่านตู้ ATM ในต่างประเทศ จะถูกเรียกเก็บ “ค่าธรรมเนียมการ แปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท” ในอัตรา 1% ของยอดใช้จ่ายและยอดกดเงินสดในสกุลเงินบาท

ซึ่งประเด็นดังกล่าวกลายเป็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมจาก DCC อีก 1% และค่าธรรมเนียมค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน หรือ “FX Rate” ในอัตราไม่เกิน 2.5% ยังต้องจ่ายอยู่หรือไม่นั้น ทำให้ผู้ถือบัตรหรือคนทั่วไปเกิดความสับสนระหว่างค่า DCC และ FX Rate แตกต่างกันอย่างไร และผู้บริโภคมีทางเลือกหรือไม่

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามแหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน ได้อธิบายถึงข้อแตกต่าง ระหว่าง “ค่าธรรมเนียมค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน หรือ FX Rate ในอัตรา 2.5% กับ “ค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท หรือ DCC Fee ในอัตรา 1% ในฐานะผู้บริโภค หรือผู้ถือบัตรควรเลือกใช้จ่ายในต่างประเทศแบบไหนดี

-ค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน คือ Foreign Exchange fee หรือ FX Rate ซึ่งค่าธรรมเนียม 2.5% จะเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้ถือบัตรนำบัตรไปใช้จ่ายต่างประเทศและรูดเป็นสกุลต่างประเทศ เช่น เยน-ญี่ปุ่น 100 เยน ค่าธรรมเนียม 2.5% จะถูกคำนวณตามการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินในรายการรูดดังกล่าว

-ค่าการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท คือ Dynamic Currency Conversion Fee หรือ DCC Fee ซึ่งค่าธรรมเนียม 1% จะเกิดขึ้นกรณีที่ผู้ถือบัตรไปใช้จ่ายด้วยสกุลเงินบาท ณ ร้านค้าในต่างประเทศ หรือร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ อาทิ Netflix, Agoda, Youtube หรือ Facebook เป็นต้น

กรณีหากลูกค้านำบัตรเครดิตวีซ่า/มาสเตอร์การ์ด ไปใช้จ่ายในต่างประเทศลูกค้าสามารถเลือกได้จะรูดเป็นสกุลต่างประเทศนั้น ๆ และเสียค่าธรรมเนียม FX Rate ไม่เกิน 2.5% หรือจะแปลงเป็นสกุลเงินบาท จะถูกเก็บค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 1% โดยลูกค้าสามารถเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งได้

อย่างไรก็ดี มองว่าลูกค้าที่ไปต่างประเทศ แนะนำให้รูดเป็นเงินสกุลต่างประเทศ จะคุ้มค่ากว่า แม้ว่าธนาคารเจ้าของบัตร (Issuing Bank) จะเรียกเก็บ 2.5% แต่ก็จะเห็นว่าธนาคารจะมีสิทธิประโยชน์ หรือ campaign cash back, double point ต่าง ๆ ให้กับลูกค้า ซึ่งราคาอ้างอิง (mark up) ตัวนี้ก็ส่งคืนให้ลูกค้าอยู่ดี

แต่กรณีลูกค้าเลือกเป็นสกุลเงินบาทเสีย 1% ลูกค้าอาจจะทราบยอดเงินที่ต้องชำระในสกุลเงินบาททันที แต่ลูกค้าจะไม่มีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงเมื่อเทียบกันแล้วในท้ายที่สุดลูกค้าอาจจะต้องชำระเงินมากกว่าการเลือกใช้สกุลเงินต่างประเทศ เนื่องจากธนาคารเจ้าของบัตรไม่สามารถรู้รายละเอียดในการ mark up (ราคาอ้างอิง) ของร้านค้าและธนาคารเจ้าของเครื่องได้

“วิธีการกรณีลูกค้าไปญี่ปุ่นและรูดเป็นสกุลเงินเยน ร้านค้าจะเรียกเก็บเป็นเยนมาที่ธนาคาร ซึ่งเราก็นำมาแปลงคำนวณเป็นสกุลเงินบาท จึงเกิดเป็นค่า FX Rate 2.5% ซึ่งเป็นอัตราเพดาน แต่เฉลี่ยอุตสาหกรรมจะเรียกเก็บอยู่ที่ 2% แต่บางธนาคารที่มีห้องค้าที่สามารถบริหารเงินได้ดีอาจจะเรียกเก็บน้อยกว่า แต่ธนาคารที่ไม่มีห้องค้าอาจจะเก็บตามเพดาน เพราะระหว่างการเรียกเก็บจากร้านค้ามาถึงธนาคารช่วงเวลาแตกต่างกันค่าเงินอาจจะแกว่งขึ้นลงได้ ซึ่งการรูดแบบนี้ลูกค้าสามารถได้รับคะแนนสะสมและโปรโมชั่นต่าง ๆ ตามแต่ละธนาคารเสนอลูกค้า

ส่วนกรณี ลูกค้ารูดและต้องการแปลงจากสกุลเยน เป็น เงินบาท ธนาคารเจ้าของเครื่อง (Acquiring Bank/DCC Provider) จะทำการ markup หลังบ้าน และมาเรียกเก็บเป็นเงินบาทได้เลย ซึ่งการ markup เราไม่สามารถรู้รายละเอียดได้เลย และเมื่อปริมาณธุรกรรมลูกค้าเยอะขึ้น ซึ่งธนาคารเจ้าของบัตรไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้จากการเรียกเก็บ 1% จึงต้องให้ลูกค้าจ่ายในส่วนนี้ ดังนั้น สุทธิแล้วจ่าย 2.5% จะคุ้มกว่า เพราะ 1% ไส้ในบวกเพิ่มในสิ่งที่เราไม่สามารถรู้ แม้ว่าจะดูตัวเลข 2.5% เยอะกว่า 1% ก็ตาม”

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมเรียกผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งธนาคาร ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิต และวีซ่า/มาสเตอร์การ์ด เข้ามาหารือในเรื่องของการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม DCC Fee 1% ก่อนจะมีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ค.นี้