ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปูพรมโรดโชว์ต่างประเทศ ดึงฟันด์โฟล์วหนุนตลาดหุ้นไทย

ตลาดหลักทรัพย์ฯ
ภาพจาก Canva

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมโรดโชว์ดึงนักลงทุนต่างชาติที่ สิงค์โปร์ อังกฤษ ฮ่องกง และ สหรัฐอเมริกา ดึงฟันด์โฟล์วเข้าตลาดหุ้นไทย ส่วนเดือน ก.พ.67 ฟันด์โฟล์วยังคงไหลเข้าตลาดหุ้นสอดคล้องกับภูมิภาคอื่น

วันที่ 11 มีนาคม 2567 นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า

ทิศทางเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) จะไหลกลับเข้ามาประเทศภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น จากการคาดการณ์ปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านเศรษฐกิจและความสามารถในการทำกำไร หากเศรษฐกิจในประเทศไทยฟื้นตัวได้เร็วก็จะทำให้เม็ดเงินต่างชาติไหลกลับมาเร็วขึ้น

“สิ่งที่ค่อนข้างมีความมั่นใจ คือความสามารถในการเจริญเติบโตของบริษัทที่เกิดจากปริมาณเงินฟันดิงที่มีในประเทศมีมาก ซึ่งธนาคารเงินทุน กองทุน มีอยู่เกือบ 20% ส่วนหนี้สาธารณะมีเพียง 61% และจากที่กระทรวงการคลังขาย พันธบัตรออมทรัพย์หมดภายใน 2 นาที จึงเห็นได้ว่าฟันดิงในประเทศยังมีอีกเยอะมาก จึงเชื่อว่าหากเศรษฐกิจ ฟื้นตัวและมีการระดมทุนเพิ่มขึ้นจะยิ่งทำให้เงินลงทุนไหลกลับเข้ามาในประเทศมากขึ้น”

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะออกไปให้ข้อมูลกับนักลงทุนต่างประเทศ (Roadshow) เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยสัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ในอดีตจะอยู่ที่ระดับ 35-40% ขณะที่ปัจจุบันขึ้นมาประมาณ 50% ซึ่งสิ่งที่ต้องทำคือต้องกระจายฐานนักลงทุนต่างชาติให้มากขึ้น

สำหรับการไป Roadshow ที่ออสเตรเลีย ได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดี โดยกลุ่มกองทุนขนาดใหญ่กว่า 17 หลักทรัพย์เข้ามาร่วมรับฟังข้อมูล ส่วนใหญ่มีความสนใจในเรื่องของพลังงานสะอาด ESG และ Health care

และกำลังจะมีการทำ Roadshow ต่อที่ตะวันออกกลาง ที่เป็น 2 ตลาดใหม่ และมีความตั้งใจจะขยายฐานนักลงทุนให้หลากหลายขึ้น โดยคาดว่าจะมีการไป Roadshow อีกที่ สิงค์โปร์ อังกฤษ ฮ่องกง และ สหรัฐอเมริกา เพื่อขยายฐานนักลงทุนต่างชาติให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพราะแต่ละประเทศก็จะมีความสนใจในการลงทุนด้านต่างๆ ที่แตกต่างกัน เป็นการกระจายความเสี่ยงและการกระจุกตัวของการลงทุน

ส่วนมาตรการของตลาดหลักทรัพย์ในกรณีหุ้นที่มีความร้อนแรงและพุ่งสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน จะเห็นได้ว่าราคาหุ้นที่มีความกังวลเริ่มมีการปรับตัวลดลง โดยปัญหาต่างๆคงยังต้องใช้เวลา และใช้มาตรการที่หลากหลาย ตราบใดที่ยังไม่มีมาตรการที่เด็ดขาดมากกว่านี้

ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ ยังมีการใช้มาตรการระดับ 1-3 มีการออกมาเตือนหุ้นที่มีการซื้อขายผิดปกติ และมีการให้ข้อมูลมากขึ้นซึ่งในอนาคตหากสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์กำลังนำเสนอได้นำมาใช้ ก็เชื่อว่ามาตรการที่มีการควบคุมจะสามารถทำได้เร็วขึ้น “ตอนนี้ด้วยสิ่งที่มีอยู่ เราสามารถควบคุมราคาที่มีการเคลื่อนไหวผิดปกติได้ดีขึ้น”

ขณะที่ความคืบหน้าในการหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เกี่ยวกับมาตรการห้ามเทรดหุ้นร้อนโดยใช้การประมูลแทน ตลาดหลักทรัพย์กำลังเร่งดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) ขออนุมัติบอร์ดให้เร็วที่สุด ส่วนสิ่งที่ต้องไปขออนุมัติจากสำนักงานที่เกี่ยวข้องก็ยังคงเร่งดำเนินการ ดังนั้นในแต่ละสิ่งตั้งแต่ไตรมาส1/67-ไตรมาส 3/67 จะมีมาตรการที่ได้นำมาอธิบายให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีเงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยสอดคล้องกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลจากการปรับลดคาดการณ์ GDP ไทย โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 ไปอยู่ที่ 2.2 – 3.2% ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจมาจากการกลับมาขยายตัวของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก และการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว

โดยนักวิเคราะห์เริ่มปรับประมาณการกำไรของบริษัทในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ราคาหลักทรัพย์กลุ่มดังกล่าวเริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากทั้งในและต่างประเทศ นักวิเคราะห์ให้คำแนะนำกับผู้ลงทุนเข้าซื้อหุ้นตามธีม High Dividend เพราะนอกจากจะได้รับกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ (Passive Income) หุ้นกลุ่มนี้ยังมีผลตอบแทนชนะ SET Index อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งหุ้น High Dividend ยังมีคุณลักษณะเป็นหุ้นปลอดภัย (Defensive) โดยสังเกตจากค่า Beta ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด

ทั้งนี้ ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 SET Index ปิดที่ 1,370.67 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 0.5% จากเดือนก่อนหน้าซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 47,265 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 29.5%