ยื่นภาษีปี 2567 แต่งงานแล้ว แยกยื่น/รวมยื่น แบบไหนดีกว่ากัน

ภาษี

ยื่นภาษีปี 2567 สำหรับคู่แต่งงานแล้ว แยกยื่น/รวมยื่น แบบไหนดีกว่ากัน รายละเอียดภาษีต่างกันแค่ไหนเช็กเลย

วันที่ 12 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่กรมสรรพากรเปิดให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยื่นภาษีด้วยตนเองแบบกระดาษ ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่งใกล้บ้าน ยื่นได้จนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2567 โดยยื่นภาษีเงินได้แบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.rd.go.th จนถึงวันที่ 9 เม.ย. 2567

สำหรับคู่ที่แต่งงานและจดทะเบียนสมรส จะต้องเจอกับการเรียกเก็บภาษีที่สูงขึ้น ทั้งนี้มีวิธียื่นภาษีได้ 2 แบบ คือ แยกยื่น กับ ยื่นร่วม เพื่อให้ได้ประโยชน์ทางภาษี ดังนี้

คู่แต่งงานยื่นภาษี 2 รูปแบบ

1.แยกยื่นแบบแสดงรายการ

คู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสกัน สามารถแยกยื่นแบบการเสียภาษีได้ ต่างคนต่างยื่นแบบจากรายได้ส่วนตัว ไม่ต้องนำรายได้มารวมกัน และสามารถใช้สิทธิหักค่าลดหย่อน และค่าใช้จ่ายแยกกันตามกฎหมาย

โดยวิธีนี้เหมาะกับกรณีที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีรายได้พอ ๆ กัน เสียภาษีในอัตราฐานภาษีที่ใกล้เคียงกัน และมีค่าลดหย่อนต่าง ๆ ใกล้เคียงกัน เมื่อแยกยื่นจะเป็นการกระจายหน่วยภาษี ทำให้ต่างฝ่ายต่างเสียภาษีในอัตราที่เหมาะสม นอกจากนี้การแยกยื่นจะทำให้เกิดความสะดวกกับทั้ง 2 ฝ่าย หากไม่ต้องการให้อีกฝ่ายมายุ่งเกี่ยวในการบริหารเงินส่วนตัวของตนเอง

2.รวมยื่นแบบแสดงรายการ

หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีรายได้มากกว่า ให้นำเงินได้ของฝ่ายที่มีรายได้น้อยกว่ามารวมกัน และฝ่ายที่มีรายได้มากกว่าเป็นผู้ยื่นภาษี ทำให้สามารถรวมสิทธิทางภาษีของคนที่มีรายได้น้อยกว่าไปให้ผู้ที่รายได้มากกว่าได้ประโยชน์มากที่สุด สามารถทำได้ 2 วิธี คือ

  • รวมยื่นแบบแสดงรายการในนามสามี คือ การที่ภรรยานำเงินได้ทั้งหมดของตนไปรวมกับเงินได้ทั้งหมดของสามี แล้วให้สามีเป็นผู้ยื่นแบบ
  • รวมยื่นแบบแสดงรายการในนามภรรยา คือ การที่สามีนำเงินได้ทั้งหมดของตนไปรวมกับเงินได้ทั้งหมดของภรรยา แล้วให้ภรรยาเป็นผู้ยื่นแบบ

สำหรับการรวมยื่นแบบแสดงรายการ จะเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อฝ่ายหนึ่ง มีรายได้ต่างกับอีกฝ่ายหนึ่งมาก และฝ่ายที่มีรายได้ต่ำกว่า จะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เต็มสิทธิ จึงรวมรายได้กันและให้ฝ่ายมีรายได้มากกว่าเป็นผู้ยื่นแบบ ทำให้สามารถรวมสิทธิค่าลดหย่อนทางภาษีต่าง ๆ ของฝ่ายที่มีรายได้น้อย ที่ยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มสิทธิ ไปให้อีกฝ่ายที่มีภาระภาษีสูงกว่าได้ประโยชน์

นอกจากนี้ยังมีค่าลดหย่อนต่าง ๆ ที่คนโสดและคนมีคู่ที่ต้องจดทะเบียนสมรส สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ หลัก ๆ ประกอบด้วย

  1. ลดหย่อนตนเอง 60,000 บาท ใช้ได้กับคนโสด และคนมีคู่ที่จดทะเบียนสมรส
  2. ลดหย่อนคู่สมรส (ไม่มีรายได้) 60,000 บาท ใช้สำหรับคนมีคู่ที่จดทะเบียนสมรส
  3. ลดหย่อนบุตร 60,000 บาท ใช้สำหรับคนมีคู่ที่จดทะเบียนสมรส
  4. ประกันสังคมสูงสุด 9,000 บาท (พนักงานขึ้นทะเบียนประกันตน) ใช้ได้กับคนโสด และคนมีคู่ที่จดทะเบียนสมรส

หมายเหตุ : กรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท

จากข้อมูลข้างต้น สำหรับคนที่จดทะเบียนสมรส หากคู่สมรสไม่มีรายได้ จะสามารถนำค่าลดหย่อนคู่สมรส และค่าเลี้ยงดูบุตรมาลดหย่อนภาษีได้มากว่าคนโสด แต่ทั้งนี้ หากคนโสดหรือคนมีคู่มีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่กฎหมายยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาค ค่าประกันชีวิต ดอกเบี้ยบ้าน เป็นต้น ก็จะช่วยลดภาระทางภาษีได้เพิ่มขึ้น

อ้างอิงจาก ประมวลรัษฎากรมาตรา 47 และคำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากสามีและภรรยา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555