สัมภาษณ์
“ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ต้นแบบนักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor) ตีแผ่ลงทุนหุ้นไทย จากยุคทองสู่ยุคตกต่ำ ผลตอบแทนปี 2566 เกือบเอาตัวไม่รอด โชคดีได้กำไรหุ้นเวียดนาม 10% ช่วยพยุงพอร์ตหุ้นไทยขาดทุน เปิดใจในวัย 71 ปี ตัดสินใจปรับพอร์ตครั้งแรกในชีวิต สิ้นหวังหุ้นไทย ขณะที่ลงหุ้นต่างประเทศก็เจอภาษีรายได้สูงสุด 35% จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้ง “บริษัท ตีแตก จำกัด” ทุนจดทะเบียน 2,200 ล้านบาท เพื่อทำหน้าที่เป็นบริษัทลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศทั่วโลก โมเดลคล้ายบริษัท Berkshire Hathaway ของวอร์เรน บัฟเฟต์
วัย 71 ปีปรับพอร์ตครั้งแรกในชีวิต
ดร.นิเวศน์ นักลงทุนรายใหญ่ที่มีพอร์ตลงทุนรวมเกือบหมื่นล้านบาท ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมตัดสินใจปรับพอร์ตครั้งแรกในชีวิต ตอนอายุ 71 ปีว่า เนื่องจากปีที่แล้ว รัฐบาลประกาศจัดเก็บภาษีรายได้จากต่างประเทศ (รวมถึงเงินได้จากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ) หากนำกลับเข้ามาประเทศไทยจะต้องเสียภาษี เริ่มเก็บตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 ซึ่งยอมรับว่าเงื่อนไขนี้ “เปลี่ยนเกม” เลย เพราะภาษีเป็นเรื่องใหญ่มาก ซึ่งนักลงทุนที่ไปลงทุนต่างประเทศส่วนใหญ่แล้วลงทุนในนามส่วนบุคคลทั้งนั้น คนที่มีเงินลงทุนเยอะ ๆ ถ้าไม่รีบปรับพอร์ตก็ตายแน่ ๆ เพราะต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 35% คือมีกำไรเท่าไหร่ ตัดไปจ่ายภาษี 35%
สำหรับผมยอมรับว่าไม่ไหวเพราะเยอะเกิน เนื่องจากไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามมานาน กำไรที่ซ่อนไว้ 9 ปี ทบไปทบมามีอยู่ค่อนข้างเยอะ จึงจำเป็นต้องรีบปรับพอร์ตนำเงินกลับประเทศก่อน แต่รู้อยู่แล้วว่าถ้าดึงเงินกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย อนาคตก็ไปได้ไม่ไกล “ความมั่งคั่ง” จะลดลงหรือแย่ลง
เพราะตอนนี้ตลาดหุ้นไทยเติบโตน้อยมาก ดัชนี SET นิ่งมาหลายปี เรียกว่าผลตอบแทนค่อนข้างแย่ เห็นได้จากนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกสุทธิเฉลี่ยปีละแสนล้าน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขายออกไปแล้วกว่า 1 ล้านล้านบาท ดังนั้นถ้าผลตอบแทนระดับนี้ ความมั่งคั่งจะลดลงหรือแย่ลงได้ เพราะฉะนั้น เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องไปลงทุนต่างประเทศ หากอยากจะเติบโตจากการลงทุน จึงต้องปรับโมเดลการลงทุน
ตั้งบริษัท “ตีแตก” ยอมจ่ายภาษี 20%
ดร.นิเวศน์เล่าว่า ส่วนตัวจึงปรับแผนการลงทุนในต่างประเทศ จากเดิมที่เป็นการลงทุนในนาม “ส่วนบุคคล” ก็ปรับเป็นการลงทุนผ่าน “บริษัท” คือยอมเสียภาษีเงินได้นิติบุุคคลไปเลย แต่เป็นระดับภาษีที่พอรับได้ คือ 20% ของกำไร จากที่ถ้าลงทุนในนามบุคคลต้องเสีย 35%
ดังนั้น จึงตัดสินใจตั้ง “บริษัท ตีแตก จำกัด” ใช้ชื่อตามหนังสือที่เขียน จดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ด้วยทุนจดทะเบียน 2,200 ล้านบาท โมเดลเดียวกับบริษัท Berkshire Hathaway ของวอร์เรน บัฟเฟต์ คือต่อไปการลงทุนในต่างประเทศก็จะลงทุนผ่านบริษัท ตีแตก แต่ถ้าลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งไม่มีประเด็นเรื่องภาษี ก็ยังใช้ชื่อลงทุนในนามส่วนบุคคล
“ต้องยอมรับว่าประเทศไทย ต้องการภาษีจากคนที่พอจะมีกำลังเสียภาษี มาเกื้อหนุนคนที่มีรายได้น้อย ตอนนี้มองว่าเรื่องภาษีคงหนีไม่พ้น แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่ต้องเสียภาษีหากไม่นำเงินกลับเข้าประเทศไทย แต่อนาคตก็ไม่แน่ เพราะได้ยินว่ารัฐบาลมีแนวคิดแม้ไม่นำเงินกลับเข้าประเทศ แต่หากมีรายได้ก็ต้องเสียภาษี เพราะรัฐบาลต้องการเงิน ขณะเดียวกันตอนนี้สรรพากรก็มีระบบที่ทำให้รู้ว่าคุณไปทำกำไรที่ไหนบ้างในโลก คือเขาตามจับได้ ส่วนตัวจึงคิดว่าไม่ไหว ถ้าต้องคอยมาระวังหรือระแวง ว่าวันไหนจะถูกเก็บภาษี ยังไงก็หนีไม่ได้ ก็ยอมจ่ายซะเลย 20% อย่างไรก็ดี ผมอาจจะไม่เสียภาษีเต็มอัตราเพราะยังไม่ขายทำกำไร”
ปรับพอร์ตหุ้นเวียดนามเข้าบริษัท
ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ผมก็ได้ปรับพอร์ตโดยการขายหุ้นเวียดนามที่ถือในนามส่วนตัวออก และให้บริษัท ตีแตก จำกัด เข้าไปซื้อหุ้นแทน โดยต่อไปจะใช้บริษัทนี้ลงทุนตรงในต่างประเทศทั่วโลก แต่นาทีนี้ “เป้าแรก” จะเน้นลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามเป็นหลักก่อน ซึ่งก็จะเน้นซื้อหุ้น Super Stock และถือระยะยาวแบบเดียวกับที่ลงทุนในหุ้นไทย เดิมทีหุ้นเวียดนามจะมีเยอะเป็น100 ตัว เพราะตอนที่เข้าไปยังไม่รู้จัก ผ่านมาหลายปีก็เริ่มรู้ว่า Super Stock ควรเป็นตัวไหนก็จะซื้อเฉพาะหุ้นพวกนี้
“จริง ๆ หลักการลงทุนยังเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนตัวหุ้น เปลี่ยนสถานที่ แต่คอนเซ็ปต์การลงทุนเหมือนเดิม เน้นลงทุนแบบ Value Investing คือดูคุณภาพเปรียบเทียบกับราคา ถ้ามันคุ้มค่าเราก็ซื้อ ถ้าไม่คุ้มค่าเราก็ขาย” ดร.นิเวศน์กล่าว
ปัจจุบันพอร์ตหุ้นเวียดนามมีสัดส่วนเกือบ 30% ของพอร์ตรวม ที่เหลืออีกเกือบ 70% เป็นพอร์ตหุ้นไทย และมีเงินสดอีกประมาณ 5-6%
โยกเงินหุ้นไทยลงทุนต่างประเทศ
ดร.นิเวศน์อธิบายถึงพอร์ตหุ้นไทยว่า ตอนนี้ยังถือในนามส่วนตัวเพราะยังไม่ต้องเสียภาษี แต่มองว่าอนาคตอาจจะดึงเงินบางส่วนออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพราะพอร์ตเกือบ 70% ได้ผลตอบแทนนิดเดียว ไม่คุ้ม ถ้าปล่อยไปเรื่อย ๆ พอร์ตก็ไม่ไปไหน อย่างปีที่ผ่านมาได้ผลตอบแทน 0% เทียบกับที่ไปลงทุนหุ้นเวียดนาม นับจากต้นปีถึงปัจจุบันได้ผลตอบแทนมาแล้วกว่า 10%
สำหรับแผนดึงเงินไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มนั้น จะไม่ได้เป็นการไปซื้อหุ้นรายตัวเหมือนที่ลงทุนในไทย หรือเวียดนาม แต่จะไปใน 2 รูปแบบ คือ 1.กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund : FIF) ซึ่งไม่ต้องเสียภาษี แต่มีข้อด้อยคือเราเลือกหุ้นไม่ได้ และ 2.ลงทุนผ่าน DR (Depositary Receipt) ซึ่งเป็นตราสารแสดงสิทธิในหุ้นต่างประเทศที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทย ซื้อขายด้วยสกุลเงินบาท ซึ่งมีแต่ตัวใหญ่ ๆ ราคาหุ้นจะขึ้นลงตามหุ้นแม่ในต่างประเทศ เช่น DR ของอาลีบาบา, เน็ตฟลิกซ์ เป็นต้น
“จริง ๆ ก็ยังหวั่น ๆ อยู่เหมือนกัน เพราะการลงทุนในหุ้นต่างประเทศถือเป็นอีกเกม ซึ่งเราอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจมาก จึงต้องใช้เวลาเลือกมากหน่อย ซึ่งตอนนี้ก็สนใจตลาดหุ้นอินเดียและจีน”
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่ได้เริ่มลงทุน กำลังอยู่ในช่วงศึกษาอยู่ แต่ยอมรับว่าไปลงทุนต่างประเทศนาทีนี้ไม่สามารถจะเป็น Stock Picker ได้ 100% จะต้องเป็นแบบ Semiactive คือเป็นการลงทุนผ่านกองทุน ก็เลือกว่าจะเอากองทุนแบบไหน ไม่สามารถเลือกทุกอย่างในตลาดต่างประเทศได้ ผลตอบแทนก็น่าจะพอใช้ได้
1-2 ปีแรกบททดสอบโมเดลใหม่
ดร.นิเวศน์ระบุว่า คิดว่าประมาณ 1-2 ปีนี้ จะเห็นการปรับพอร์ตทุกอย่างลงตัวมากขึ้น ซึ่งช่วงแรกวางแผนปรับสัดส่วนลงทุนหุ้นต่างประเทศ 50% และหุ้นไทย 50% หรือถึงจุดหนึ่งเพิ่มพอร์ตหุ้นต่างประเทศเป็น 75% และลดพอร์ตหุ้นไทยเหลือ 25% เพราะต้องยอมรับว่าหุ้นไทยผ่านจุด S-Curve ที่เป็นขาขึ้นไปแล้ว ช่วงที่อิ่มตัวไม่มีทางได้ดีมาก
“ตอนนี้เหนื่อยหน่อยเพราะเปลี่ยนใหม่หมด จากที่เคยสบาย ๆ ก็ต้องมานั่งดูบัญชีว่าเป็นอย่างไร ต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่ ก็ปวดหัวอยู่เหมือนกัน ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วจะเสียภาษีกี่ล้านต่อปี เพราะตอนนี้ก็ยังไม่รู้ก็ต้องรอครบปี ซึ่งถ้ารูปแบบใหม่แล้วกลายเป็นเสียภาษีเยอะก็อาจจะต้องชะลอลงทุน เพราะไม่คุ้ม ซึ่งคงต้องผ่านไปสักระยะหนึ่งเพื่อให้รู้ว่าตกลงทำแบบนี้คุ้มหรือไม่คุ้มกันแน่”
อย่างไรก็ดี ตั้งใจว่าพอร์ตหุ้นไทยสัดส่วนคงไม่ต่ำกว่า 25% แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะไม่ดี แต่จำเป็นต้องมีไว้ เหตุผลเพราะเราอยู่ในประเทศไทย เป็นที่ที่เรากิน เราใช้เงินเป็นหลัก ไปต่างประเทศหมดบางทีค่าเงินล่มสลาย วันดีคืนดีเกิดสู้รบกัน ปิดประเทศไม่ให้เอาเงินออกนอกประเทศ ฉะนั้นไปลงทุนอาจเจ็บตัวหมดก็ได้
สำหรับพอร์ตหุ้นไทยคงจะเหลือเฉพาะหุ้นปันผลดี มีความมั่นคง คือจะเก็บตัวที่มั่นใจที่สุดไว้ พูดง่าย ๆ ไม่เจ๊ง คือไม่มีใครทำร้ายได้ เทคโนโลยีใหม่ก็ทำร้ายไม่ได้ เพราะอย่างน้อยได้ปันผล 6-7% ต่อปี และถ้าหุ้นขึ้นสัก 3-4% ก็ได้ผลตอบแทน 10%
หุ้นไทยแก่ตามประชากรไปต่อยาก
ถามว่าตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสพลิกกลับขึ้นมาได้หรือไม่นั้น ดร.นิเวศน์ตอบว่า อาจจะไปต่อได้ยาก หรือแค่ประคองก็ยากมากแล้ว เพราะตลาดหุ้นไทยแก่ตามประชากร เหมือนกับตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ใช้เวลาประมาณ 20 ปี ที่เริ่มพลิกกลับมาได้บ้าง แต่ไม่ได้เยอะ เพราะความแก่เป็นอะไรที่ถาวร (Permanent) ไม่สามารถฝืนได้ จะให้มีนโยบายผลิตลูกเยอะ ๆ ก็ยาก เช่น ในเกาหลีใต้ พยายามสนับสนุนให้ประชาชนมีลูก ใช้งบประมาณไปเป็นล้านล้าน ปรากฏว่ายิ่งทำ ผู้หญิงเกาหลีก็มีลูกเฉลี่ยแค่ 0.7 คนเท่านั้น เทรนด์เป็นแบบนี้ ซึ่งสังคมไทยจะตามเกาหลี
“ตลาดหุ้นไทยแก่ตามประชากร เพราะฉะนั้น เราก็ต้องหาทางเอาตัวรอด คือถ้าผมลงทุนในประเทศไทย เท่ากับว่าผมลงทุน เพื่อจ้างคนไทยที่อายุเฉลี่ยแก่เหมือนผม หวังว่าจะมาเลี้ยงผมตอนแก่ แต่ถ้าเราลงทุนเวียดนาม ซึ่งคนหนุ่มสาวทำงานยังเยอะ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เราแก่ไป เขาเป็นหนุ่มสาว เราใส่เงินลงทุนไปเท่าไหร่ เดี๋ยวเขาก็สร้างผลผลิตเอาเงินกลับมาเลี้ยงเรา นี่เป็นทางรอด”
ต่อคำถามที่ว่าหมดหวังกับตลาดหุ้นไทย ? ดร.นิเวศน์ตอบว่า ความหวังเป็นอะไรที่ทุกคนต้องมี แต่ถ้าเราเป็นนักลงทุนต้องแยกระหว่าง “ความหวัง” “ความฝัน” กับความเป็นจริง เช่น ที่คุณหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาโต 4-5% ต่อปี แต่ถ้าเราเป็นนักลงทุนต้องวิเคราะห์โอกาสความเป็นจริงว่ามีกี่ % ไม่ใช่ไม่มี แต่โอกาสมันน้อยมากแค่ 10-20%
“หลักการลงทุนคือจะต้องวิเคราะห์ความน่าจะเป็นไปได้ ซึ่งลงทุนหุ้นไทยเหมือนกำลังเสี่ยงโชคแบบซื้อลอตเตอรี่ โอกาสน้อยมากที่จะถูกรางวัลที่ 1” ดร.นิเวศน์กล่าว
จากยุคทองสู่ยุคตกต่ำ
ดร.นิเวศน์ย้อนอดีตว่า ตั้งแต่เริ่มลงทุนช่วงแรกในยุคหลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ตอนนั้นราคาหุ้นตกลงเยอะ เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว เป็นช่วงเติบโตที่ใช้ได้เลย จนถือว่าเป็นยุคเริ่มต้นที่ดีของการลงทุนแบบ Value Investing ซึ่งผมเป็นคนแรก ๆ ที่เผยแพร่ความคิดนี้ และได้เปรียบเพราะมีหุ้นประเภท “ของดี-ราคาถูก” เมื่อซื้อไปแล้วราคาหุ้นก็ปรับตัวขึ้นได้ดี
แต่ถัดมาช่วงเกิดวิกฤตซับไพรมปี 2551 ถือเป็นยุคที่สองของการลงทุนวีไอ แม้หุ้นตกไปแรง แต่พื้นฐานเศรษฐกิจไทยไม่ได้เสียหายเหมือนปี 2540 ซึ่งเป็นยุคที่คนรู้สึกว่าการลงทุนในหุ้นเป็นสิ่งที่ดีและคุ้มค่า แต่แนวคิดเปลี่ยนไปเพราะคนที่เข้ามาลงทุนเป็นนักธุรกิจหรือคนรุ่นใหม่ที่มีฐานะ ลงทุนเพื่อจะทำให้เงินงอกเงย ต่างจากยุคแรกที่เป็นมนุษย์เงินเดือน รายได้ระดับชนชั้นกลางไปจนถึงรายได้สูง ที่ลงทุนเพื่อการเกษียณ
นักลงทุนกลุ่มใหม่นี้อาจเรียกว่า Speculative VI คือเข้ามาเล่นหุ้นรุนแรงมาก เป็นช่วงที่เล่นกันแบบ Corner หุ้น แนวเก็งกำไรเยอะ เพราะฉะนั้นจะเป็นเกมธุรกิจแล้ว ซึ่งถือเป็น “ยุคทอง” เพราะใช้เลเวอเรจสูง กู้เงินมาลงทุน จนหุ้นจำนวนมากเฟ้อหนัก ราคาหุ้นขึ้นไป 5-10 เท่า เป็นเรื่องปกติ โดยที่พื้นฐานไม่รองรับ และพอถึงเวลาทิ้ง หุ้นก็ตกเป็นหลาย ๆ เท่า กลายเป็นว่าเบลอไปหมด ว่าใครคือนักลงทุนวีไอ เพราะทุกคนเรียกตัวเองว่าวีไอกันหมด
และ 8-9 ปีที่แล้ว ส่วนตัวก็เริ่มรู้สึกว่าหุ้นไทยนิ่งมานานหลายปี แม้ว่าพอร์ตจะดีกว่าตลาด ไม่ขาดทุน แต่ไม่ไปไหน จึงต้องหาทางออก เพราะเห็นว่าประเทศไทยอาจจะไม่ใช่จุดที่สามารถสร้าง S-Curve ใหม่ได้แล้ว ซึ่งเล็งเห็นตลาดหุ้นเวียดนามเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าตลาดอื่น จึงตัดสินใจเริ่มลงทุน ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนไทยถือเป็นส่วนสำคัญในตลาดหุ้นเวียดนาม ซึ่งตอนนี้ดัชนีหุ้นเวียดนามขึ้นมากว่า 1,250-1,260 จุด สักพักจะไล่ทันดัชนีหุ้นไทยแล้วที่อยู่กว่า 1,300 จุด
แนะมาตรการกำกับตลาดหุ้น
นอกจากนี้ ดร.นิเวศน์ได้ฝากถึงหน่วยงานกำกับตลาดหุ้นไทยว่า ติงเรื่องเดียวเพราะเกิดขึ้นมาหลายครั้ง คือเมื่อออกมาตรการกำกับมาแล้ว เหมือนว่าภารกิจเสร็จแล้ว จบแล้ว มาตรการออกมาผลลัพธ์เป็นยังไงไม่มีการตรวจสอบ เช่น ที่ออกมาตรการแล้วบอกไม่มีการเก็งกำไร แต่ราคาหุ้นวิ่งขึ้นหนักกว่าเดิมอีก เพราะมาตรการไม่ได้แก้ปัญหาอะไร แบบนี้ก็ท้าทาย หน่วยงานกำกับต้องติดตามผลทุก 3 เดือน 5 เดือน ถ้ายังเหมือนเดิม ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไป 3 เท่า 5 เท่า ก็ต้องเปลี่ยนมาตรการใหม่จนกระทั่งควบคุมให้ได้
ที่ผ่านมาปล่อยให้มีหุ้นปั่นตลอดเวลา หุ้นที่ใคร ๆ ก็รู้ว่าไม่มีพื้นฐานรองรับ ทำให้คนเข้าไปแล้วเสียหาย ซึ่งตลาดหุ้นเสียหายในระยะยาว เพราะกลายเป็นตลาดเก็งกำไร และหุ้นปั่น นี่เป็นหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น อีกหน่อยก็ไม่มีใครอยากเข้ามาลงทุนตลาดหุ้นไทย