รู้จักบริษัท “ตีแตก” ทุนจดทะเบียน 2,200 ล้าน ของ ดร.นิเวศน์

Dr.Niwet
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

รู้จักบริษัท “ตีแตก” ทุนจดทะเบียน 2,200 ล้าน ของ ดร.นิเวศน์ นักลงทุนรายใหญ่ที่มีพอร์ตลงทุนเกือบหมื่นล้าน โมเดลเดียวกับบริษัท Berkshire Hathaway ของวอร์เรน บัฟเฟต์

วันที่ 13 มีนาคม 2567 หลังจาก ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนรายใหญ่ที่มีพอร์ตลงทุนเกือบหมื่นล้านบาท ได้เปิดโอกาสให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ไปเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเปิดใจในวัย 71 ปี ตัดสินใจปรับพอร์ตครั้งแรกในชีวิต จากสิ้นหวังกับผลตอบแทนหุ้นไทย ขณะที่ลงทุนหุ้นต่างประเทศก็เจอภาษีรายได้สูงสุด 35% จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินการจัดตั้ง “บริษัท ตีแตก จำกัด” เพื่อใช้ลงทุนหุ้นต่างประเทศทั่วโลก นับจากนี้เป็นต้นไป

สำหรับ “บริษัท ตีแตก จำกัด” ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ได้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ไปเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท และต่อมาเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567 ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็นจำนวน 2,200 ล้านบาท

ซึ่งจะเป็นบริษัทโฮลดิ้ง ประกอบกิจการลงทุนในหุ้นและตราสารการเงิน อสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินอื่น ๆ รวมถึงกู้เงิน มีที่ตั้งสำนักงานอยู่ที่ 21/17 ซอยชวกุล ถนนรางน้ำ แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร

โดยปัจจุบันมีรายชื่อกรรมการ จำนวนทั้งหมด 3 ราย ประกอบด้วย 1.ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร 2.นางเพาพิลาส เหมวชิรวรากร (ภรรยา) และ 3.นางสาวพิสชา เหมวชิรวรากร (ลูกสาว)

สำหรับ “บริษัท ตีแตก จำกัด” ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เล่าว่า ใช้ชื่อตามหนังสือที่เขียน ซึ่งจะเป็นโมเดลเดียวกับบริษัท Berkshire Hathaway ของวอร์เรน บัฟเฟต์ คือต่อไปการลงทุนในต่างประเทศก็จะลงทุนผ่านบริษัทตีแตก แต่ถ้าลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งไม่มีประเด็นเรื่องภาษี ก็ยังใช้ชื่อลงทุนในนามส่วนบุคคล

“ส่วนตัวที่ปรับแผนการลงทุนในต่างประเทศ จากเดิมที่เป็นการลงทุนในนาม “ส่วนบุคคล” ก็ปรับเป็นการลงทุนผ่าน “บริษัท” คือยอมเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไปเลย แต่เป็นระดับภาษีที่พอรับได้ คือ 20% ของกำไร จากที่ถ้าลงทุนในนามบุคคลต้องเสีย 35%” ดร.นิเวศน์กล่าว

ทั้งนี้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ดร.นิเวศน์เล่าอีกว่า ได้ปรับพอร์ตโดยการขายหุ้นเวียดนามที่ถือในนามส่วนตัวออก และให้บริษัท ตีแตก จำกัด เข้าไปซื้อหุ้นแทน โดยต่อไปจะใช้บริษัทนี้ลงทุนตรงในต่างประเทศทั่วโลก แต่นาทีนี้ “เป้าแรก” จะเน้นลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามเป็นหลักก่อน ซึ่งก็จะเน้นซื้อหุ้น Super Stock และถือระยะยาวแบบเดียวกับที่ลงทุนในหุ้นไทย เดิมทีหุ้นเวียดนามจะมีเยอะเป็น 100 ตัว เพราะตอนที่เข้าไปยังไม่รู้จัก ผ่านมาหลายปีก็เริ่มรู้ว่า Super Stock ควรเป็นตัวไหนก็จะซื้อเฉพาะหุ้นพวกนี้

“จริง ๆ หลักการลงทุนยังเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนตัวหุ้น เปลี่ยนสถานที่ แต่คอนเซ็ปต์การลงทุนเหมือนเดิม เน้นลงทุนแบบ Value Investing คือดูคุณภาพเปรียบเทียบกับราคา ถ้ามันคุ้มค่าเราก็ซื้อ ถ้าไม่คุ้มค่าเราก็ขาย” ดร.นิเวศน์กล่าว

ปัจจุบันพอร์ตหุ้นเวียดนามมีสัดส่วนเกือบ 30% ของพอร์ตรวม ที่เหลืออีกเกือบ 70% เป็นพอร์ตหุ้นไทย และมีเงินสดอีกประมาณ 5-6%