ดร.นิเวศน์ เปิดแผนโยกเงินในพอร์ต หนีตลาดหุ้นไทย

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนรายใหญ่ที่มีพอร์ตลงทุนเกือบหมื่นล้าน เปิดแผนโยกเงินในพอร์ตหนีตลาดหุ้นไทย

วันที่ 14 มีนาคม 2567 ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ต้นแบบนักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor) ที่มีพอร์ตลงทุนเกือบหมื่นล้านบาท เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ผมก็ได้ปรับพอร์ตโดยการขายหุ้นเวียดนามที่ถือในนามส่วนตัวออก และให้บริษัท ตีแตก จำกัด เข้าไปซื้อหุ้นแทน

โดยต่อไปจะใช้บริษัทนี้ลงทุนตรงในต่างประเทศทั่วโลก แต่นาทีนี้ “เป้าแรก” จะเน้นลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามเป็นหลักก่อน ซึ่งก็จะเน้นซื้อหุ้น Super Stock และถือระยะยาวแบบเดียวกับที่ลงทุนในหุ้นไทย เดิมทีหุ้นเวียดนามจะมีเยอะเป็น 100 ตัว เพราะตอนที่เข้าไปยังไม่รู้จัก ผ่านมาหลายปีก็เริ่มรู้ว่า Super Stock ควรเป็นตัวไหนก็จะซื้อเฉพาะหุ้นพวกนี้

“จริง ๆ หลักการลงทุนยังเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนตัวหุ้น เปลี่ยนสถานที่ แต่คอนเซ็ปต์การลงทุนเหมือนเดิม เน้นลงทุนแบบ Value Investing คือดูคุณภาพเปรียบเทียบกับราคา ถ้ามันคุ้มค่าเราก็ซื้อ ถ้าไม่คุ้มค่าเราก็ขาย” ดร.นิเวศน์กล่าว

ปัจจุบันพอร์ตหุ้นเวียดนามมีสัดส่วนเกือบ 30% ของพอร์ตรวม ที่เหลืออีกเกือบ 70% เป็นพอร์ตหุ้นไทย และมีเงินสดอีกประมาณ 5-6%

สำหรับพอร์ตหุ้นไทยตอนนี้ยังถือในนามส่วนตัว เพราะยังไม่ต้องเสียภาษี แต่มองว่าอนาคตอาจจะดึงเงินบางส่วนออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพราะพอร์ตเกือบ 70% ได้ผลตอบแทนนิดเดียว ไม่คุ้ม ถ้าปล่อยไปเรื่อย ๆ พอร์ตก็ไม่ไปไหน อย่างปีที่ผ่านมาได้ผลตอบแทน 0% เทียบกับที่ไปลงทุนหุ้นเวียดนาม นับจากต้นปีถึงปัจจุบันได้ผลตอบแทนมาแล้วกว่า 10%

สำหรับแผนดึงเงินไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มนั้น จะไม่ได้เป็นการไปซื้อหุ้นรายตัวเหมือนที่ลงทุนในไทย หรือเวียดนาม แต่จะไปใน 2 รูปแบบคือ 1.กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund : FIF) ซึ่งไม่ต้องเสียภาษี แต่มีข้อด้อยคือเราเลือกหุ้นไม่ได้ และ 2.ลงทุนผ่าน DR (Depositary Receipt) ซึ่งเป็นตราสารแสดงสิทธิในหุ้นต่างประเทศที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทย ซื้อขายด้วยสกุลเงินบาท ซึ่งมีแต่ตัวใหญ่ ๆ ราคาหุ้นจะขึ้นลงตามหุ้นแม่ในต่างประเทศ เช่น DR ของอาลีบาบา, เน็ตฟลิกซ์ เป็นต้น

“จริง ๆ ก็ยังหวั่น ๆ อยู่เหมือนกัน เพราะการลงทุนในหุ้นต่างประเทศถือเป็นอีกเกม ซึ่งเราอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจมาก จึงต้องใช้เวลาเลือกมากหน่อย ซึ่งตอนนี้ก็สนใจตลาดหุ้นอินเดียและจีน”

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่ได้เริ่มลงทุน กำลังอยู่ในช่วงศึกษาอยู่ แต่ยอมรับว่าไปลงทุนต่างประเทศนาทีนี้ไม่สามารถจะเป็น Stock Picker ได้ 100% จะต้องเป็นแบบ Semiactive คือเป็นการลงทุนผ่านกองทุน ก็เลือกว่าจะเอากองทุนแบบไหน ไม่สามารถเลือกทุกอย่างในตลาดต่างประเทศได้ ผลตอบแทนก็น่าจะพอใช้ได้

คิดว่าประมาณ 1-2 ปีนี้ จะเห็นการปรับพอร์ตทุกอย่างลงตัวมากขึ้น ซึ่งช่วงแรกวางแผนปรับสัดส่วนลงทุนหุ้นต่างประเทศ 50% และหุ้นไทย 50% หรือถึงจุดหนึ่งเพิ่มพอร์ตหุ้นต่างประเทศเป็น 75% และลดพอร์ตหุ้นไทยเหลือ 25% เพราะต้องยอมรับว่าหุ้นไทยผ่านจุด S-curve ที่เป็นขาขึ้นไปแล้ว ช่วงที่อิ่มตัวไม่มีทางได้ดีมาก

“ตอนนี้เหนื่อยหน่อย เพราะเปลี่ยนใหม่หมด จากที่เคยสบาย ๆ ก็ต้องมานั่งดูบัญชีว่าเป็นอย่างไร ต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่ ก็ปวดหัวอยู่เหมือนกัน ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วจะเสียภาษีกี่ล้านต่อปี เพราะตอนนี้ก็ยังไม่รู้ก็ต้องรอครบปี ซึ่งถ้ารูปแบบใหม่แล้วกลายเป็นเสียภาษีเยอะก็อาจจะต้องชะลอลงทุน เพราะไม่คุ้ม ซึ่งคงต้องผ่านไปสักระยะหนึ่ง เพื่อให้รู้ว่าตกลงทำแบบนี้คุ้มหรือไม่คุ้มกันแน่”

อย่างไรก็ดี ตั้งใจว่าพอร์ตหุ้นไทยสัดส่วนคงไม่ต่ำกว่า 25% แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะไม่ดี แต่จำเป็นต้องมีไว้ เหตุผลเพราะเราอยู่ในประเทศไทย เป็นที่ที่เรากิน เราใช้เงินเป็นหลัก ไปต่างประเทศหมดบางทีค่าเงินล่มสลาย วันดีคืนดีเกิดสู้รบกัน ปิดประเทศไม่ให้เอาเงินออกนอกประเทศ ฉะนั้น ไปลงทุนอาจเจ็บตัวหมดก็ได้

สำหรับพอร์ตหุ้นไทยคงจะเหลือเฉพาะหุ้นปันผลดี มีความมั่นคง คือจะเก็บตัวที่มั่นใจที่สุดไว้ พูดง่าย ๆ ไม่เจ๊ง คือไม่มีใครทำร้ายได้ เทคโนโลยีใหม่ก็ทำร้ายไม่ได้ เพราะอย่างน้อยได้ปันผล 6-7% ต่อปี และถ้าหุ้นขึ้นสัก 3-4% ก็ได้ผลตอบแทน 10%