บลจ.จับเทรนด์ลงทุน คัดสินทรัพย์เด่นปั้น AUM ปี’67

Narongsak-AUM

ปี 2567 นี้ มีการมองกันว่าจะเป็นปีที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มเข้าสู่ช่วง “ขาลง” หลังจากปีที่ผ่านมาเป็น “ขาขึ้น” ต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ปัจจัยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้สินทรัพย์ผันผวนอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา และยังไม่รู้ว่าปีนี้จะเป็นอย่างไร

ดังนั้น การบริหารการลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนที่ดี จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ช่วงที่ผ่านมา บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หลายแห่งได้ประกาศทิศทางการดำเนินงานในปี 2567 ออกมาแล้ว ลองมาดูว่าแต่ละแห่งจะให้ความสำคัญกับอะไรกันบ้าง

SCBAM ชูกองบอนด์

โดย “ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ (SCBAM) เปิดเผยว่า ปีนี้ SCBAM ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนตราสารหนี้ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากสภาวะตลาดเอื้อต่อการลงทุน ทำให้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดี ในจังหวะการปรับตัวดอกเบี้ยเพื่อล็อกผลตอบแทนระดับสูงไว้ ซึ่งน่าจะตอบรับความต้องการของนักลงทุนโดยไม่ต้องเสี่ยงมากเกินไป

“เชื่อว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยเร็ว แต่จะค่อย ๆ ทยอยปรับลดลง เพราะเงินเฟ้อยังไม่ลดลงมากนัก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหากในปีนี้จะไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลาง ตราสารหนี้ก็ยังนับว่าเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุน

เราคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรือหากเฟดไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้ ผลตอบแทนก็ยังอยู่ในระดับสูง แต่หากเฟดลดดอกเบี้ย 1-2 ครั้งในปีนี้ ผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะยาวก็ยังสูงกว่าเงินฝากและปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ”

ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย

ทั้งนี้ แนะนำแบ่งพอร์ตการลงทุน เป็นลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศสัดส่วน 70% และตราสารหนี้ไทยสัดส่วน 30%

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนของ SCBAM ปีนี้ เน้นการจับจังหวะทิศทางตลาดทุนเป็นหลัก เพื่อหาสินทรัพย์ลงทุนที่ได้ประโยชน์ และสามารถมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ในแต่ละช่วงจังหวะเวลา โดยตั้งเป้ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการ (AUM) ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1.9-2 ล้านล้านบาท จากกว่า 1.8 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 21% เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน และมีโอกาสมากกว่านั้น หากทิศทางตลาดตราสารหนี้ผลตอบแทนดี

“AUM ของเราปีนี้จะเพิ่มขึ้นราว 1-2 แสนล้านบาท หลัก ๆ มาจากการคาดว่ากองทุนรวมมีเม็ดเงินโตได้ 50,000-100,000 ล้านบาท โดยเฉพาะกองทุนตราสารหนี้ และอีกส่วนหนึ่งจากกองทุนส่วนบุคคล คาดว่าจะมีลูกค้าที่เป็นสถาบันการเงิน รวมถึงบริษัทประกันสนใจให้เราบริหารพอร์ตให้เพิ่มเติม มีเป้าหมายเติบโตที่ 50,000-100,000 แสนล้านบาทเช่นกัน”

KAsset ผนึก เจ.พี.มอร์แกน

ฟาก “อดิศร เสริมชัยวงศ์” ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย (KAsset) กล่าวว่า ในปี 2567 บริษัทตั้งเป้า AUM เติบโตมากกว่า 10% จากสิ้นปี 2566 ที่อยู่ 1.4 ล้านล้านบาท พร้อมนำเสนอกองทุนผสมในรูปแบบ “Multiasset Fund” ที่ได้ร่วมมือกับ เจ.พี.มอร์แกน มีจุดเด่นในการลงทุนสินทรัพย์ที่หลากหลาย และสามารถกระจายความเสี่ยงในการลงทุนที่ดี โดยจะเป็นการกระจายลงทุนในหลายสินทรัพย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“บริษัทตั้งเป้าภายใน 3 ปี จะมี AUM ในส่วนของกองทุนผสม ‘Multiasset Fund’ อยู่ที่ 1 แสนล้านบาท จากปัจจุบันมีอยู่ราว 2 หมื่นล้านบาท”

นอกจากนี้ ยังผลักดันกองทุน ESG ที่ร่วมมือกับ Lombard Odier ซึ่งเป็นผู้นำด้านการบริหารสินทรัพย์และความมั่งคั่งระดับโลก เพื่อเข้ามาช่วยให้ความรู้และเป็นที่ปรึกษาในการจัดพอร์ต คัดเลือกและจัดสรรผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนที่ส่งเสริมด้านความยั่งยืน โดยมุ่งเป้าตั้งกองทุน ESG มูลค่า AUM รวมกว่า 30,000 ล้านบาทภายในปี 2569

ตาราง เป้าหมาย

ส่วนแนวโน้มการลงทุนในปีนี้ให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นในตลาดอินเดียและเวียดนาม มากกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นจีนและไทย เนื่องจากมองว่ามีโอกาสในการเพิ่มอัตราผลตอบแทนได้ดีกว่า

“หุ้นอินเดียและเวียดนามเป็นตลาดที่น่าสนใจ ส่วนหุ้นจีนถึงแม้ราคาจะปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับต่ำแล้ว แต่โอกาสในการทำกำไรยังสู้ทั้งอินเดียและเวียดนามไม่ได้ ส่วนหุ้นไทยถ้าจะให้แนะนำคงเป็นหุ้นกลาง-เล็ก โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการส่งออกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ”

บลจ.วรรณเสนอกองทางเลือก

ด้าน “พจน์ หะริณสุต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2566 ที่ผ่านมา บลจ.วรรณมี AUM เติบโตขึ้นอยู่ที่ 1.62 แสนล้านบาท โดยมีสัดส่วนสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจากธุรกิจกองทุนรวมอยู่ประมาณ 40% กองทุนสำรองเลี้ยงชีพประมาณ 20% และกองทุนส่วนบุคคลประมาณ 40% ซึ่งบริษัทยังคงคำแนะนำให้จัดพอร์ตการลงทุน

โดยกระจายสินทรัพย์ในการลงทุนในทุก ๆ ประเภท (Asset Allocation) โดยเน้นวางกลยุทธ์ด้วยสินทรัพย์ทางเลือก สร้างสมดุลให้พอร์ต ท่ามกลางความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งมีขึ้นเป็นระยะ ๆ ตลอดปีที่ผ่านมา

สำหรับปีนี้ คาดว่า AUM จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็น 1.7 แสนล้านบาท โดยธุรกิจกองทุนรวมจะเพิ่มขึ้นอีก 5,000 ล้านบาท จาก 60,000 ล้านบาทในปีก่อน และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพิ่มอีก 5,000 ล้านบาท จาก 40,000 ล้านบาท ทั้งนี้ บลจ.วรรณตั้งเป้าธุรกิจกองทุนรวมจะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 50% ใน 1-2 ปีนี้

“ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณานำเสนอกองทุนทางเลือกประเภทใหม่ เน้นธีมผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ทางการเงินต่ำ หรือกองทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจ เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทั่วไป สำหรับการเสนอขายกองทุนในสินทรัพย์หลัก อาทิ ตราสารทุน ตราสารหนี้ โดยในปีนี้บริษัทมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อปัจจัยเศรษฐกิจโลก

จากปัจจัยกดดันด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่มีความผ่อนคลาย และกลายเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้น และอัตราเงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งช่วยลดแรงกดดันการใช้นโยบายการเงินอย่างแข็งกร้าว”

ซีอีโอ บลจ.วรรณกล่าวว่า สำหรับกลยุทธ์การลงทุน แนะนำสัดส่วนการลงทุนในหุ้น 60% แบ่งเป็นหุ้นสหรัฐ 20% ที่เหลือเป็นยุโรป ญี่ปุ่น อินเดีย เวียดนาม และไทย และลงทุนในตราสารหนี้ 30% ที่เหลือเป็นสินทรัพย์ทางเลือก 10% อาทิ REIT เป็นต้น