เฟดคงอัตราดอกเบี้ยตามคาด บาทอ่อนทะลุ 36.40

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า
ภาพ : pixabay

ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 18-22 มีนาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันจันทร์ (18/3) ที่ระดับ 35.94/95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/3) ที่ระดับ 35.77/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงจากตัวเลขเศรษฐกิจ ประกอบกับตลาดรอคอยผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ

ทั้งนี้ดัชนีดอลลาร์ได้อ่อนค่าลงแตะระดับ 103.17 หลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 23 ปี

โดยการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plol) เจ้าหน้าที่เฟดยังคงส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2567 โดยปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 0.75% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมเดือน ธ.ค. 2566 นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2568

โดยปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 0.75% ลดลงจากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในการประชุมเดือน ธ.ค. 2566 ส่วนในปี 2569 ส่วนในปี 2569 เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.75% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมเดือน ธ.ค. 2566

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งหลังจากปี 2569 จนกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ที่ราว 2.6% ใกล้กับ “อัตรากลาง” ซึ่งจะเป็นระดับที่ผ่อนคลายหรือเข้มงวดทางการเงิน ส่วนการคาดการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐนั้น เฟดปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐสู่ระดับ 2.1%, 2.0%, และ 2.0% ในปี 2567, 2566 และ 2569 จากเดิมคาดการณ์ในเดือน ธ.ค. 2566 ที่ระดับ 1.4%, 1.89% และ 1.9% ตามลำดับ

ขณะที่อัตราการขยายตัวในระยะยาวอยู่ที่ระดับ 1.8% นอกจากนี้เฟดคาดการณ์อัตราว่างงานจะอยู่ที่ระดับ 4.0%, 4.1% และ 4.0% ในปี 2567, 2568 และ 2569 จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 4.1% 4.1% และ 4.1% ตามลำดับ ขณะที่อัตราว่างงานระยะยาวอยู่ที่ 4.1%

ขณะเดียวกันเฟดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 2.6%, 2.2% และ 2.0% ในปี 2567, 2568 และ 2569 จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 2.4%, 2.2% และ 2.0 ตามลำดับ ในช่วงท้ายตลาดดอลลาร์สหรัฐ ยังได้รับแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ

โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 2,000 ราย สู่ระดับ 210,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 212,000 ราย สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองพุ่งขึ้น 9.5% สู่ระดับ 4.38 ล้านยูนิตในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 3.95 ล้านยูนิต

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ลงเหลือ 2.6% จากเดิม 3.2% เนื่องจากปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาด, การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัว การเบิกจ่ายงบประมาณทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนทำได้ต่ำกว่าคาด

นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้หากไทยปรับลดดอกเบี้ยนโยบายก่อนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจมีเงินทุนไหลออก ดังนั้นจึงคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจจะลดดอกเบี้ยหลังเฟด หรือเป็นช่วงกลางปีนี้ โดยคาดว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบาย 1-2 ครั้งในปีนี้ รวมแล้วลดประมาณ 0.25-0.50%

ด้านค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ หลังจากธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ลงมติตรึงอัตราดอกเบี้ยตามคาดเมื่อวานนี้ และระบุว่า เศรษฐกิจอังกฤษกำลังปรับตัวในทิศทางที่เหมาะสมในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย บรรดาเทรดเดอร์คาดการณ์ว่า BoE จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.75% ในปีนี้ หลังจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าอาจจะปรับลด 0.70% สกุลเงินฟรังก์สวิสอ่อนค่าลง 1.26% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ หลังจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 1.50% ในการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดี (21/3)

ซึ่งสวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และทำให้ SNB กลายเป็นธนาคารกลางรายใหญ่แห่งแรกที่ยุติการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.88-35.49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (22/3) ที่ระดับ 36.36/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (18/3) ที่ระดับ 1.0883/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/3) ที่ระดับ 1.0901/03 ตามการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซนเดือน ก.พ. 2567 โดยระบุว่า ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน

ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.1% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี ทั้งนี้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.พ.อาจไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยคาดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในเดือน มิ.ย.นี้ และจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.83% ในปี 2567

ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนายปาโบล เฮอร์นันเดซ เดอ คอส ผู้กำหนดนโยบายของ ECB ซึ่งกล่าวว่า ECB อาจเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลาดังกล่าว หลังจากที่เงินเฟ้อในยูโรโซนชะลอตัวลง ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0803-1.0942 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (22/3) ที่ระดับ 1.0816/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (18/3) ที่ระดับ 149.28/31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/3) ที่ระดับ 148.69/72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น

ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ระดับ 0 ถึง 0.1% ถือเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 17 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2550 พร้อมกับประกาศยุตินโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC) พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี โดยที่ผ่านมา BOJ ภายหลังจากมีสัญญาณบ่งชี้ว่า ค่าจ้างของญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้นในปีนี้ นอกจากนี้ยังระบุว่า จะยุติการซื้อกองทุน ETF และ J-REITS

ซึ่งเป็นกองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่น และจะทยอยปรับลดการซื้อตราสารหนี้เอกชน โดยวางแผนว่า จะยุติการซื้อตราสารหนี้เอกชนภายในระยะเวลา 1 ปี โดยการดำเนินการดังกล่าวสะท้อนถึงเป้าหมายของ BOJ ที่พยายามพยุงเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้รอดพ้นจากสภาวะเงินฝืดแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2% โดยคณะกรรมการ BOJ มองว่า การปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อดังกล่าว ส่วนใหญ่เกิดจากราคานำเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี นายซุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในวันพฤหัสบดี (21/3) ว่าญี่ปุ่นกำลังจับตาความเคลื่้อนไหวในตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศอย่างใกล้ชิดและจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนหากจำเป็น หลังจากค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 151.82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ในตลาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุก แม้ว่า BOJ ได้ประกาศยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในการประชุมเมื่อวันอังคาร (19/3) ที่ผ่านมาก็ตาม

นอกจากนี้ การส่งออกของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 7.8% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นที่ระดับ 5.3% แต่ชะลอตัวลงจากเดือน ม.ค. ซึ่งพุ่งขึ้นสู่ระดับ 11.9% ตัวเลขดังกล่าวส่งผลให้ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าลดลงเหลือ 3.794 แสนล้านเยนในเดือน ก.พ.เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขาดดุลการค้า 8.102 แสนล้านเยน และขาดดุลน้อยกว่าในเดือน ม.ค.ที่ขาดดุลถึง 1.76 ล้านล้านเยน โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกไปจีนและสหรัฐ ที่เพิ่มขึ้นในเดือน ก.พ. ซึ่งเป็น 2 ประเทศหลักที่ทำให้ดุลการค่าของญี่ปุ่นดีขึ้น

นอกจากนี้ค่าเงินเยนยังอ่อนค่าต่อเนื่องในวันศุกร์ (22/3) หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลด้านการผลิตสหรัฐพุ่งขึ้นเกินคาด ซึ่งทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Interest rale differential) ระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่นจะปรับตัวกว้างขึ้น ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 148.92-151.86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (22/3) ที่ระดับ 151.58/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ