อายุน้อย “ฝึกมีเงินร้อยล้าน” ออมก่อนรวยกว่าไม่เกินจริง

ออมเงิน
บทความโดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

วันที่ 28 มีนาคม 2567 นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จิตตะ เวลธ์ จำกัด เปิดเผยผ่านบทความว่า เราคงคุ้นกับวลี ‘ออมก่อน รวยกว่า’ ที่เป็นแคมเปญกระตุ้นการออม การลงทุน และการสร้างวินัยทางการเงินให้กับคนไทยมาอย่างยาวนนาน ในช่วงหลัง ๆ ดูเหมือนจะมีวลีใหม่ ๆ เข้ามาหักล้างความเชื่อนี้ ตามสภาพสังคม เศรษฐกิจ และไลฟ์ไสตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างเช่น เงินเก็บ.. เก็บไว้ในใจ, คนที่เก็บเงินได้เยอะ.. เค้าเก็บกันแถวไหน หรือ เงินเดือนน้อยนิด.. ชีวิตร้อยล้าน สำหรับคนในวางการลงทุนอย่างผม เชื่ออย่างสนิทใจเลยครับว่า ‘ออมก่อน รวยกว่า’ เป็นเรื่องที่จริงแท้แน่นอน

Loud Budgeting เทรนด์ใหม่ปี 2024

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา วงการแฟชั่นมีประเด็น Viral เกิดขึ้น เมื่อ TikToker อย่าง Lukas Battle ได้ออกมาแชร์เทรนด์ ‘Loud Budgeting’ ซึ่งเป็นกระแสใหม่มาแรง อธิบายแบบง่าย ๆ คือ ‘การอวดประหยัดแทนการอวยรวย’ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า หรือเครื่องประดับหรูหราราคาแพง ถือเป็นการ ‘เปลี่ยนทิศ’ วงการแฟชั่นจากเดิมที่เน้นสร้างภาพลักษณ์เพื่อความดูดี ดูแพง โดยเฉพาะบนสังคมออนไลน์
และในอีกมุมหนึ่ง Loud Budgeting ยังเหมือนการแข่งกันเก็บเงิน รู้จักคุณค่าของเงิน หรือการใช้เงินอย่างคุ้มค่าที่สุด พลิกจากช่วง 1-2 ปีก่อนหน้า ที่เทรนด์ Quiet Luxury เป็นกระแสมาแรงในวงการแฟชั่น ซึ่งแสดงถึงความหรูหราแบบไม่กระโตกกระตาก แต่ภาคใต้ความเงียบนั้นคือแบรนด์เนมทั้งตัว ที่ราคาสูงลิบลิ่ว

Loud Budgeting เป็นการประกาศความประหยัดด้วยความภาคภูมิใจ แสดงความมัธยัสถ์อย่างมีชั้นเชิง ซึ่งหลายคนมองว่ากระแส Loud Budgeting มีที่มาจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง คนจึงหันมาให้ความสำคัญกับการใช้เงินอย่างคุ้มค่า ด้วยการเลือกใช้สินค้าที่เรียบง่าย คงทน โดยไม่ต้องเน้นยี่ห้อดัง และถึงแม้ว่า Loud Budgeting ไม่ได้ทำให้คุณรวยขึ้นมาในทันที แต่คนที่ใช้เงินอย่างคุ้มค่ามีโอกาสสร้างความมั่งคั่งทางการเงินได้มากกว่าในระยะยาว

กระแส Loud Budgeting ไม่เพียงกลายเป็น Viral ในวงการแฟชั่นเท่านั้น แต่ถูกเชื่อมโยงมาถึงวงการเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุนอีกด้วย โดยมีกระแสคอมเมนท์ในสังคมออนไลน์ในวงกว้างว่า คนในยุค Gen Z และ Millennials ที่มีวิถีอยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย ต้องการสร้างภาพลักษ์ที่ดูดี เน้นการใช้จ่ายเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองในวันนี้ มากกว่าการเก็บออมและลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในอนาคต

อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่ที่เริ่มทำงานในช่วงโควิดหรือหลังโควิด ก็อาจได้รับแรงกดดันจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จากค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้ต้องแบกรับค่าใช้จ่าย ๆ ต่าง ๆ มากขึ้น ดังนั้น ‘การเปย์’ เพื่อสร้างความสุขให้กับชีวิตในตอนนี้เลย จึงให้ความสำคัญกับการออมและการลงทุนในระยะยาวน้อยลง ยิ่งการออมเพื่อเกษียณยิ่งเป็นเรื่องไกลตัวเหมือนอยู่ดาวอังคาร หลายประเทศจึงประสบกับปัญหาการออม รวมทั้งประเทศไทยเราเองที่อัตราการออมถือว่าอยู่ในระดับน่าเป็นห่วงทีเดียวครับ

แก่ก่อนรวย เพราะอคติการออม

จริง ๆ แล้ว คนไทยส่วนใหญ่มีรายได้และสามารถออมได้ แต่ไม่ออม จนเกิดคำถามว่า เป็นเพราะอะไร ? ซึ่งทางสถบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ได้ทำวิจัยเรื่องนี้และพบว่า ‘อคติเชิงพฤติกรรม’ 7 ข้อ เป็นเหตุผลที่ทำให้คนไทยบางส่วนไม่ออมเงิน และไม่มีเงินเก็บ บางพฤติกรรมอาจตรงกับใครหลาย ๆ คนก็ได้นะครับ มาดูกันว่าทั้ง 7 อคติ มีอะไรกันบ้าง

1. อคติชอบปัจจุบัน (Present bias) คือ การที่ผู้คนให้น้ำหนักความสำคัญกับความสุขและผลตอบแทนที่ได้รับในปัจจุบันมากกว่าในอนาคต เช่น คนที่มีอ้างเหตุผลเข้าข้างตัวเองเพื่อไม่ออม หรือผลัดวันที่จะตั้งใจเก็บเงินไปเรื่อย ๆ โดยนำเงินใช้จ่ายเพื่อซื้อความสุขในวันนี้ ณ ตอนนี้แทน และคนประเภทนี้ก็จะมีปัญหาในการควบคุมตนเอง (Self-control problem) แม้จะรู้ว่าดีกว่าการออมจะเป็นหลักประกันชั้นดีให้กับชีวิตหลังเกษียณก็ตาม

2. อคติยึดติดสภาวะเดิม (Status quo bias) คือ การที่ผู้คนพึงพอใจกับสภาวะปัจจุบันมากกว่าจะเปลี่ยนไปลองทำสิ่งใหม่ที่จะแม้จะให้ผลประโยชน์มากกว่า เช่น เลือกที่จะออมในรูปแบบที่คุ้นเคยอย่างฝากธนาคาร มากกว่าที่จะลองออมในหุ้นหรือพันธบัตรที่มีคุณภาพดี ความเสี่ยงไม่สูง แต่ให้ผลตอบแทนกว่าเงินฝากธนาคารมาก

3. อคติโลกแคบ (Narrow framing) คือ การมองทางเลือกที่ต้องพิจารณาในชีวิตเป็นกลุ่มย่อย ๆ แยกออกจากกัน หรือเพียงเฉพาะในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ทำให้ผู้คนตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ด้อยกว่าเมื่อพิจารณาทุกทางเลือกหรือช่วงเวลาพร้อมกัน เช่น มองว่าการออมในปัจจุบันเป็นไปเพื่อบริหารรายรับ-รายจ่ายระยะสั้น หรือเก็บเงินซื้อของราคาแพง โดยมองการออมเพื่อการเกษียณเป็นเรื่องของอนาคตที่ยังไม่ต้องรีบคิดพร้อมกันตอนนี้

4. อคติกลัวสูญเสียเกินเหตุ (Loss aversion) คือ ความสูญเสียจากสถานะปัจจุบันมีผลกระทบต่อจิตใจทางลบมากกว่าที่จะมีความสุขจากการได้รับผลตอบแทนที่มีขนาดเท่ากัน เช่น การมองว่าการออมเป็นการสูญเสียรายได้ที่จะนำมาบริโภค จึงเลือกที่จะออมน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

5. อคติละเลยอัตราทบต้น (Exponential growth bias) คือ การไม่เข้าใจพลังของดอกเบี้ยทบต้น ซึ่งแปลงเงินออมให้มีมูลค่ามากขึ้นทวีคูณได้ หากมีการออมอย่างต่อเนื่องยาวนานและไม่ถอนเงินต้นออก เช่น คนที่ไม่รีบออมเพื่อการเกษียณตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะประเมินผลตอบแทนจากการออมต่ำเกินไป โดยมองว่าผลตอบแทนเป็นเส้นตรงไม่ใช่ทวีคูณ จึงไม่เข้าใจว่าออมเร็วขึ้นและต่อเนื่องเพียงไม่กี่ปีก็ทำให้มีเงินให้ถอนใช้ยามเกษียณเพิ่มขึ้นมาก โดยพลังของดอกเบี้ยทบต้นอาจมาในรูปอื่นที่ไม่ใช่เงินฝากเท่านั้น เช่น การลงลงทุนในหุ้น หรือในอสังหาริมทรัพย์

6. แรงกดดันจากผู้คนในกลุ่ม (Peer pressure) คือ อิทธิพลทางสังคมจากคนในกลุ่มเดียวกันทั้งเชิงบวกและลบ ทำให้มีพฤติกรรมคล้อยตาม เช่น การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยตามเพื่อน หรือตามสังคมโซเชียล เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ และนี่คือศัตรูตัวร้ายที่ทำให้ความสามารถในการออมลดลง

7. การมองโลกในแง่ดีเกินไป (Overoptimism) คือ มีความมั่นใจจนล้น (Overconfidence) ทำให้เกิดความชะล่าใจในการออมเงิน เช่น คิดว่าเมื่อตนเองเกษียณไป อาจไม่โชคร้ายและเผชิญเหตุไม่คาดฝัน เช่น เจ็บป่วยหนักหรือป่วยเรื้อรัง และต้องเสียค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก ทำให้ไม่เห็นความสำคัญกับการเตรียมพร้อมทางการเงินเพื่อการเกษียณ และมีการออมน้อยกว่าที่ควร

จากการสำรวจของ TDRI ยังพบอีกว่า คนมากกว่า 70% จะมีรายได้มากกว่ารายจ่าย ขณะที่มากกว่า 37% มีการออมไม่ถึง 10% ของรายได้ต่อเดือน นอกจากนี้ส่วนมากเป็นการออมโดยการฝากธนาคาร และเก็บเป็นเงินสดไว้กับตัว โดยคิดถึงการออมผ่านการลงทุนในหุ้น พันธบัตร และกองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าในลำดับรอง

เงินไม่พอใช้จนต้องยืดเวลาเกษียณ
เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ออมก่อน รวยกว่า’ สำหรับประเทศไทยคำที่มักจะถูกพูดตามมาเสมอนั่นก็คือ ‘แก่ก่อนรวย’ เพราะประเทศไทยได้ย่างก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างแท้จริง แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ คนไทยจำนวนมากยังไม่มีเงินออมสำหรับวัยเกษียณ หรือแม้แต่คนที่อยู่ในวัยทำงาน มีเงินเข้าทุกเดือน หลายคนก็ยังไม่มีเงินเก็บ ไม่มีการลงทุน ไม่มีการวางแผนทางการเงิน หรืออาจซ้ำร้ายยิ่งกว่าคือไม่มีวินัยทางการเงิน จนรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย

คงเป็นที่ทราบกันดีนะครับว่า ผู้สูงอายุในบ้านเราจำนวนมากมีปัญหาเงินออมไม่เพียงพอ ทำให้หลายคนที่ถึงวัยเกษียณแล้วยังต้องทำงานต่อ เพราะจำเป็นต้องหาเงินเพื่อดูแลตัวเองต่อไป หรือบางคนยังมีภาระที่ต้องดูแลครอบครัวอีกด้วย ขณะที่หลายครอบครัวซึ่งมีสมาชิกในวัยทำงานอยู่แล้ว ก็มีแนวโน้มที่เงินออมไม่พอสำหรับเกษียณเช่นกัน เรียกได้ว่าส่งต่อความ ‘แก่ก่อนรวย’ กันรุ่นต่อรุ่นไปเลยครับ

จากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย 2564 พบว่า มีผู้สูงอายุเพียง 4.9% ที่ประเมินว่าตนเองมีรายได้เหลือเก็บ และยังมีผู้สูงอายุถึง 34.7% ที่ยังคงทำงานอยู่ โดยเป็นผู้สูงอายุที่ทำงานโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเองหรือครอบครัวสูงถึง 44.6% อีกทั้งสัดส่วนของผู้สูงอายุจากประชากรทั้งหมดยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีอีกด้วย จากการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย

นอกจากนี้ การประเมินสถานการณ์การออมของครัวเรือนไทยตามระดับรายได้ พบว่า กลุ่มรายได้ต่ำสุด มีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายตลอดการทำงาน และกลุ่มรายได้ต่ำรองลงมาไม่มีเงินออมสำหรับการเกษียณ เพราะมีรายได้ใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายตลอดในช่วงที่ยังทำงานอยู่ ส่วนกลุ่มรายได้ที่เหลือมีเงินออมหลังการเกษียณ แต่ไม่เพียงพอที่จะบริโภคจนสิ้นอายุขัย จึงเป็นภาพสะท้อนว่า สถานการณ์การออมเพื่อการเกษียณของคนไทยค่อนข้างน่าเป็นห่วง

จากการศึกษาของ Yusof และ Sabri พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการออมเพื่อการเกษียณมีอยู่ด้วยกันหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเชิงเศรษฐศาสตร์ เช่น รายได้ ค่าใช้จ่าย การถือครองสินทรัพย์ หรือปัจจัยเชิงสังคม เช่น ระดับการศึกษา เพศ อายุ หรือแม้แต่เชื้อชาติ รวมไปถึงปัจจัยเชิงจิตวิทยา โดยเฉพาะจิตวิทยาเชิงพฤติกรรม (Behavioral psychology) ซึ่งกล่าวถึงการมีอคติเชิงพฤติกรรม (Behavioral bias) ที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจต่าง ๆ ของคนได้นั่นเอง

วันนี้คือฤกษ์ที่ดีในการ (เริ่ม) ออม

หากเริ่มวางแผนทางการเงินตั้งแต่อายุยังน้อย ๆ หรือง่ายที่สุดคือตั้งแต่เริ่มวัยทำงานเมื่อหารายได้ให้กับตัวเองได้แล้ว ก็ควรเริ่มวางแผนและปฏิบัติตามแผนการเงินทันที เพราะในช่วงวัยที่ยังไม่มีภาระหรือความรับผิดชอบมากนัก จะช่วยให้เราบริหารการเงินของตัวเองได้ง่ายยิ่งขึ้น เมื่อมีรายได้เข้ามาแล้ว ต้องจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และเหลือเป็นเงินออม เงินลงทุนเท่าไหร่ เพราะนี่คือการสร้างวินัยเพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่ง และอิสรภาพทางการเงินได้เร็วชึ้น

สำหรับคนรุ่นใหม่การใช้ก่อนออม น่าจะเป็นพฤติกรรมทางการเงินปกติที่กลายเป็นวิถีไปแล้ว แต่พฤติกรรมเหล่านี้ก็สามารถปรับเปลี่ยนกันได้นะครับ ซึ่งผมมีตัวอย่างการออมเพื่อปูทางสู่ความมั่งคั่งในระยะยาว โดยเริ่มเก็บเงินด้วยการออมก่อนใช้ 10% ของรายรับ เช่น ถ้ามีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือน หักเป็นออมเงิน 10% ก็คือ เดือนละ 3,000 บาทนั่นเองครับ ส่วนที่เหลือค่อยจัดสรรสำหรับการใช้จ่าย

นอกจากนี้ ควรมีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายให้เป็นนิสัย ซึ่งเป็นการเช็กพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป และสำหรับมือใหม่หัดออม ควรเริ่มต้นด้วยการกำหนดเป้าหมายทางการเงินในระยะสั้นลง หรือเป็นเป้าหมายที่เล็กลง เพื่อไม่ให้เป้าหมายนั้นยากลำบากจนเกินไป เป็นการสร้างกำลังใจและแรงบันดาลใจให้กับตัวเองในการเดินสู่เป้าหมายด้วยความสบาย ๆ มากขึ้น เช่น จากตั้งเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ว่าจะมีเงิน 1 ล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า ลองปรับมาเป็นเก็บเงินให้ได้ 15,000 บาทใน 1 เดือน เมื่อสามารถบรรลุในเป้าหมายเล็ก ๆ ในระยะสั้น ๆ ได้ ก็จะเป็นการสร้างพื้นฐานสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ขึ้นได้

การเริ่มต้นออมและลงทุนตั้งแต่อายุน้อย ๆ คุณยังจะได้พบกับพลังแห่งดอกเบี้ยทบต้นอีกด้วย เพราะเมื่อกาลเวลาผ่านไปผลตอบแทนจากการออมหรือการลงทุนของคุณจะงอกงามจนน่าอัศจรรย์เลยทีเดียว นอกจากนี้การออมด้วยวิธี DCA จะเป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยให้คุณออมได้ต่อเนื่อง และสร้างวินัยในการออมและการลงทุนให้คุณได้อีกด้วย

นวัตกรรมการเงินช่วยการออม

แม้ Jitta จะเริ่มต้นธุรกิจในฐานะ Startup เล็ก ๆ ที่นำเทคโนโลยีการเงินหรือ Fintech มาขับเคลื่อน แต่ตลอดการดำเนินธุรกิจในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา เรามุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะการสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้คนไทยเข้าถึงการลงทุนที่ง่ายและสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า ภายใต้ Mission ‘ช่วยนักลงทุนสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า ด้วยวิธีการที่ง่ายกว่า’ จึงพัฒนาเทคโนโลยี AI มาช่วยให้ผู้ลงทุนรายย่อยเข้าถึงสินทรัพย์ลงทุนระดับโลกได้ เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้น รวมทั้งยังมีส่วนช่วยเพิ่มพูนทักษะและความรู้ทางการเงินให้กับคนไทย ให้มีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรงขึ้น

เราได้พัฒนาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจากการวิเคราะห์ข้อมูลหุ้นทั่วโลก รวมถึงพอร์ตการลงทุนที่เราได้บริหารจัดการมากว่า 6 ปี เราพบข้อจำกัดในการออมและการลงทุนของคนไทยที่ผมคิดว่าสามารถนำเทคโนโลยีพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ให้เป็นเครื่องมือที่จะช่วยแก้วิกฤตด้านการเงินส่วนบุคคลของคนไทย และสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวได้ ด้วยการพัฒนา Jitta Card ขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินก่อนออมและไม่สามารถเริ่มต้นมีเงินเก็บเงินออมเพื่อลงทุนได้ โดย Jitta Card จะช่วยให้จัดสรรเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายไปสู่การออมเงิน หรือลงทุนได้แบบง่าย ๆ จนแทบไม่รู้ตัวว่ากำลังบริหารเงินให้กับตัวเองอยู่

ภายใต้การพัฒนา Ecosystem ทางการเงิน Jitta Card จะช่วยส่งเสริมวินัยทางการเงินแบบครบวงจร ทั้งจ่าย-ออม-ลงทุน ด้วยการใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติ ผ่านกระบวนการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่จะทำให้คนไทยมีเงินเก็บได้จริง ซึ่งการมีเงินออมจะเป็นพื้นฐานทางการเงินที่แข็งแรงและนำไปสู่จุดเริ่มต้นการลงทุนได้อย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความรู้การเงินและหลักการลงทุนระยะยาวที่จะช่วยให้นักลงทุนสามารถบริหารจัดการพอร์ตลงทุนได้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยง เพื่อสร้างผลตอบแทนได้อย่างยั่งยืน

ทุกการใช้จ่ายระบบจะเก็บเงินทอน (Round up) ไว้ในกระเป๋าเงินออมให้โดยอัตโนมัติ รวมถึงมีโบนัสเงินออมหรือ Cashback จากการช็อปออนไลน์กับร้านค้าที่เป็นพันธมิตรมากมาย ซึ่งเงินออมทั้งหมดจะถูกส่งต่อไปยังกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ผู้ใช้ได้เลือกนโยบายการลงทุนไว้ เป็นการจัดการเงินในชีวิตประจำวันที่ไม่ต้องฝืน ทำได้ทันที สร้างวินัยการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ มีพอร์ตการลงทุนที่เติบโตในระยะยาวตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อเป้าหมายสูงสุดให้คนไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้นในอนาคต โดย Jitta Card (Beta) เปิดให้ทดสอบใช้งานแล้ว หากคุณสนใจสามารถลงทะเบียนรับสิทธิสมัครใช้งานเป็นกลุ่มแรก ๆ ได้ที่ jittacard.com

ในยุคสมัยนี้ คนรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้ถูกปลูกฝังเรื่องการออมตั้งแต่อายุยังน้อย ต่างจากการช็อปออนไลน์ที่สามารถทำได้อย่างคล่องแคล่วบนมือถือ จนบางครั้งบางคนจะรู่สึกว่าการเริ่มต้นออมเงินมีความยุ่งยาก ไม่คุ้นชิน และต้องใช้ความอดทนและมีวินัยอย่างยิ่ง แต่ไม่แน่นะครับ เมื่อคุณได้ลองใช้ Jitta Card และได้เห็นพลังแห่งการออมและการลงทุน คุณจะหลงเข้าไปสู่กระแส Loud Budgeting ได้อย่างง่ายดาย เพราะทุกครั้งที่คุณใช้จ่าย คุณยังได้ ‘อวดประหยัด’ จากเงินออมหลังการใช้จ่ายเสียอีก แต่ไม่ว่าคุณจะต้องการเกาะกระแสนี้หรือไม่ แค่เพียงได้ใช้จ่ายและมีเงินออม ผมเชื่อว่าเท่านี้ก็จะช่วยลดความรู้สึกฝืนใจที่จะเริ่มต้นเก็บออมไปได้ เมื่อการออมไม่ใช่เรื่องยุ่งยากไม่ต้องใช้ความอดทน และมีวินัยของตัวเองเพราะมีเทคโนโลยีมาช่วยให้คุณลงทุนได้ตั้งแต่วันนี้แล้ว

เด็ก ๆ ในยุคดิจิทัล เรียกได้ว่ามีทักษะด้านเทคโนโลยีที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เพียงใช้ทักษะของตัวเองมองหาเครื่องไม้เครื่องมือมาช่วยลดความยุ่งยากของตัวเองก็เป็นเรื่องที่ง่ายดายและมีให้เลือกมากมาย ส่วนผมก็สัญญาว่าจะเดินหน้าพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ ๆ ออกมาเพื่อเป็นตัวช่วย และสนับสนุนให้การออมและลงทุนของคุณเป็นเรื่องง่าย และสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้จริงครับ

หากคุณมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องออมตั้งแต่วันนี้ และยินดีก้าวข้ามอคติทางการเงินต่าง ๆ ไปเพื่อไปสู่ฝัน ปั้นพอร์ตร้อยล้านได้ การมีเป้าหมายชัด และเลือกเส้นทางที่เป็นไปได้จริง เดินหน้าอย่างมุ่งมั่น ผมก็เชื่อว่าความสำเร็จอยู่ไม่ไกลแน่นอนครับ ขอให้มีความสุขในทุกจังหวะการลงทุนที่คุณสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้เลยครับ