เวิลด์แบงก์ เปิดรายงาน 5 โจทย์ใหญ่ประเทศไทย ปลดล็อกศักยภาพเศรษฐกิจ

worldbank

ธนาคารโลกเปิดรายงานวิเคราะห์แนวทางพัฒนาประเทศไทยอย่างเป็นระบบ SCD เปิด 5 โจทย์ท้าทายและผลลัพธ์ เพื่อปลดล็อกศักยภาพเศรษฐกิจไทยให้ก้าวสู่ประเทศรายได้สูง

วันที่ 28 มีนาคม 2567 ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ในประเทศไทย เปิดรายงานวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบ (Systematic Country Diagnostic : SCD) (ฉบับปรับปรุง) พ.ศ. 2567 เพื่อนำเสนอแนวทางการปฏิรูปที่สำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

เนื่องจากสภาพแวดล้อมทั้งในและนอกประเทศในปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดโอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ ต่อประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโรคโควิด-19 ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งได้สร้างแรงกดดันต่อทั้งภาคเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและประชากร

เศรษฐกิจไทยติดกับดักโตต่ำ-ฟื้นช้า

รายงานของเวิลด์แบงก์ระบุว่า ท่ามกลางสภาพแวดล้อมข้างต้น ประเทศไทยยังคงสามารถรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคและการเงินได้เป็นอย่างดี ซึ่งสะท้อนถึงการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศยังคงมีข้อจำกัด แม้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเร่งตัวขึ้นในปี พ.ศ. 2565 และ 2566 แต่การฟื้นตัวยังช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวช้าของภาคการท่องเที่ยวและการค้าโลก

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำลง เนื่องจากการขาดการลงทุนที่เพียงพอ, ผลิตภาพที่เติบโตช้าลง, การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งความคืบหน้าในการลดความยากจนกำลังชะลอตัวลง ขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และความมั่งคั่งที่อยู่ในระดับสูง

รายงานการวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบ (ฉบับปรับปรุง) ของเวิลด์แบงก์ ได้ระบุผลลัพธ์ระดับสูง 5 ประการ ที่จะช่วยประเทศไทยเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจและพัฒนาสู่การเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี พ.ศ. 2580 ภายใต้แนวทางการพัฒนาที่มีความเท่าเทียมทางสังคมและมีเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

5 ปัจจัยท้าทายของประเทศไทย

1.การพัฒนาทุนมนุษย์

ปัจจัยที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนไทยที่อยู่ในระดับต่ำ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบางที่ถูกกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสต่าง ๆ เช่น การศึกษา สาธารณสุข โอกาสทางเศรษฐกิจ และบริการสาธารณะ รวมถึงการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของผู้หญิงที่ยังต่ำ ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสู่การเติบโตอย่างมีส่วนร่วมและการพัฒนาไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยทักษะและนวัตกรรม

2.เศรษฐกิจที่ด้อยศักยภาพการแข่งขัน

การขยายตัวของผลิตภาพของประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายจากความสามารถในการแข่งขันที่จำกัด และนโยบายการค้าที่เข้มงวดในภาคบริการ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อนวัตกรรมทางธุรกิจ การครอบงำโดยบริษัทขนาดใหญ่และรัฐวิสาหกิจเพียงไม่กี่แห่งทำให้เกิดข้อจำกัดในการแข่งขันและประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร นอกจากนี้ การพัฒนาทางเศรษฐกิจยังมีอุปสรรคจากอัตราการเพิ่มขึ้นของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ต่ำ และภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

3.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยง

กรุงเทพมหานครถือเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย อย่างไรก็ดี การเติบโตดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา โดยเมืองรองมีอุปสรรคในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องมาจากข้อจำกัดทางการเงินและการวางแผนจากส่วนกลาง

รวมถึงช่องว่างโครงสร้างพื้นฐานด้านการเชื่อมโยงทางบกและทางทะเล ยังเป็นอุปสรรคต่อการขยายความเชื่อมโยงภายในประเทศและระดับภูมิภาค ขณะที่ข้อจำกัดในการใช้ข้อมูล ก็เป็นอุปสรรคในการพัฒนาด้านดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ

4.ความเสื่อมโทรมทางทรัพยากรธรรมชาติและปัจจัยเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากแนวชายฝั่งที่ยาว ระบบเกษตรกรรมที่เปราะบาง และความอ่อนไหวต่อเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วนอกจากนี้ ประเทศไทยประสบปัญหาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเสื่อมโทรม มลพิษทางอากาศและน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการขยะที่ผิดพลาด สิ่งเหล่านี้นอกจากจะส่งผลกระทบระยะสั้นแล้ว ยังส่งผลกระทบระยะยาวทั้งในด้านเศรษฐกิจมหภาคและต้นทุนทางสังคมจากการสูญเสียชีวิตและการลดลงของความมั่นคงทางอาหารและทุนมนุษย์

5.ความอ่อนแอเชิงสถาบัน

การปฏิรูปเชิงโครงสร้างของสถาบันต่าง ๆ ของประเทศไทยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งด้วยการมีส่วนร่วม และยั่งยืน โดยกฎระเบียบทางการคลังและปัญหาคอขวดด้านการลงทุนส่งผลให้ประสิทธิภาพของการลงทุนภาครัฐลดลง ในขณะที่ปัญหาการขาดความรับผิดชอบและความโปร่งใสที่เพียงพอเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปเชิงโครงสร้างและการพัฒนาสถาบัน

โดยการปฏิรูปเชิงโครงสร้างของสถาบันต่าง ๆ เป็นประเด็นที่มีผู้เกี่ยวข้องในหลายภาคส่วน ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับประเด็นท้าทายทางด้านสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

5 ผลลัพธ์ปลดล็อกเศรษฐกิจและสังคมไทย

1.ทุนมนุษย์ที่แข็งแกร่ง : ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับปรุงผลลัพธ์การเรียนรู้และปิดช่องว่างทางทักษะสำหรับทุกคนด้วยการลงทุนเพิ่มเติมในด้านการศึกษา การกำหนดนโยบายการย้ายถิ่นแบบองค์รวม ร่วมกับการปฏิรูปเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของแรงงานหญิงและผู้สูงอายุ การปฏิรูปเงินบำนาญ และการให้ความช่วยเหลือทางสังคมแบบกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการลดผลกระทบจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุและรักษาวินัยทางการคลัง

2.เศรษฐกิจที่มีการแข่งขันและนวัตกรรม : ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเทคโนโลยี สร้างกฎระเบียบด้านการแข่งขัน ดึงดูดผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะ และเสริมสร้างศักยภาพ SMEs ด้วยการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงทางการเงิน นอกจากนี้ ประเทศไทยควรจัดการหนี้ครัวเรือนด้วยการให้ความรู้ด้านการเงินและการคุ้มครองผู้บริโภค

3.การพัฒนาเมืองแบบคาร์บอนต่ำและความเชื่อมโยง : ประเทศไทยมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเมืองรอง อย่างไรก็ดี การพัฒนาในอนาคตจะต้องป้องกันการขยายตัวของเมืองและความแออัดในพื้นที่เกิดใหม่ ตลอดจนคำนึงถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงภายในประเทศและระดับภูมิภาค นอกจากนี้ การพัฒนาและโครงสร้างพื้นฐานแบบคาร์บอนต่ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเติบโตอย่างเท่าเทียม

4.การพัฒนาที่ยั่งยืนและการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ประเทศไทยจำเป็นต้องส่งเสริมแนวทางการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืนและภาคการท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบ โดยประเทศไทยควรเตรียมการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การรับมือและการป้องกันอุทกภัยและภัยแล้ง และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ นอกจากนี้ ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน

5.การสร้างสถาบันที่เอื้ออำนวย : ประเทศไทยควรส่งเสริมความทั่วถึงและความโปร่งใสในการบริการสาธารณะและการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจ และจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบเพื่อให้การทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลกลางและท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

รวมถึงการสร้างขีดความสามารถสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ในการเข้าถึงบริการสาธารณะเพื่อลดความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสาธารณะ