ครม. หนุนรื้อ “กฎหมายหลักทรัพย์” ป้องทุจริตฉ้อโกง บริษัทในตลาดหุ้น

ตลาดหุ้นไทย

ครม. หนุนรื้อกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ป้องกันการทุจริตฉ้อโกงของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย พร้อมเพิ่มโทษเอาผิดสำนักผู้สอบบัญชีกรณีทุจริตผ่านตลาดทุน ด้าน “สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” เห็นควรเพิ่มมาตรการ “ยึด-อายัด” ทรัพย์สินจากการกระทำความผิดลักษณะฉ้อโกงที่เกี่ยวกับการออกหลักทรัพย์ ครอบคุลมถึงทรัพย์สินที่ได้มาหรือสงสัยว่าจะได้มาจากการกระทำผิดได้

วันที่ 18 เมษายน 2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 รับทราบผลการพิจารณาญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตฉ้อโกงของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของสภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงการคลังเสนอและแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาแทนราษฎรทราบต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้เสนอผลการพิจารณาญัตติ ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยสรุปผลได้ว่า 1.ในส่วนของแนวทางการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตฉ้อโกง กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

เกี่ยวกับผู้สอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชีเพื่อให้มีกฎหมายที่สอดรับกับแนวทางการตรวจสอบและบทลงโทษผู้ที่ทำการทุจริตผ่านตลาดทุนไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดำเนินการยกระดับการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ภายใต้โครงการบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์เข้มแข็ง

โดยเน้นมาตรการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นและมาตรการส่งเสริมการทำหน้าที่ของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น การคัดกรองคุณภาพและกำกับดูแลบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้บูรณการทำงานร่วมกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย โดยการตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมกันพิจารณาความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ และร่วมมือกับสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) ในการจัดอบรมให้ความรู้กับผู้ลงทุน รวมถึงบุคลากรในหน่วยงานยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ ทนายความ อัยการ ผู้พิพากษา

และส่งเสริมให้เกิดกระบวนการตรวจสอบการบริหารงานของบริษัทจดทะเบียนโดยผู้มีความรู้ในการลงทุนที่จะช่วยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ลงทุนที่มีอิทธิพลในการบริหารจัดการบริษัท (Activist Investors) เหมือนเช่นที่มีในต่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ศึกษาและพัฒนากฎหมายที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความทันสมัยและทันเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

2.ในส่วนของข้อเสนอแนะ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์เห็นว่า ควรปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 โดยให้สภาวิชาชีพบัญชีมีอำนาจในการกำกับดูแลผู้ทำบัญชี ผู้สอบบัญชี สำนักงานบัญชี และสำนักงานสอบบัญชี เพื่อตรวจสอบคุณภาพของการปฏิบัติงานของผู้ทำบัญชี ผู้สอบบัญชี สำนักงานบัญชี และสำนักงานสอบบัญชีในเชิงรุก

และปรับปรุงแก้ไขบทลงโทษให้ครอบคลุมบทลงโทษของสำนักงานสอบบัญชี ซึ่งปัจจุบันพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดเพียงบทลงโทษของผู้สอบบัญชีตัวบุคคลไว้เท่านั้น

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เห็นว่า ควรเพิ่มมาตรการในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินจากการกระทำความผิดที่มีลักษณะเป็นการทุจริตฉ้อโกงที่เกี่ยวกับการออกหลักทรัพย์ ให้ครอบคุลมไปถึงทรัพย์สินที่ได้มาหรือสงสัยว่าจะได้มาจากการกระทำความผิดหรือที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดได้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใดก็ตาม และกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการเยียวยาความเสียหายให้กับนักลงทุนที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิด เช่น คำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลที่ได้รับความเสียหาย เป็นต้น