การฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุน

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

ในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.9% แต่ยังมีข้อกังวลว่าการขยายตัวดังกล่าวเป็นการโตแบบ “แข็งนอกอ่อนใน” คือ มีแต่ภาคการส่งออกและท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี ขณะที่เศรษฐกิจภายในคือ การบริโภคและการลงทุนขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ โดยเฉพาะการลงทุน โดยคาดหวังว่าในปีนี้การส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องน่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจภายในเริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น

โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี ก็นับว่าภาวะเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ขยายตัวได้ดีเกินคาดในไตรมาส 1 ที่ระดับ 4.8% และตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน และล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่งรายงานภาวะเศรษฐกิจเดือนพฤษภาคม 2561 ว่า เศรษฐกิจไทย “ขยายตัวดีต่อเนื่อง ตามการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวสูง สอดคล้องกับอุปสงค์ต่างประเทศที่ขยายตัวดี และราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศขยายตัวชัดเจนขึ้นต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในทุกหมวดการใช้จ่าย ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสอดคล้องกัน ด้านการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในทุกหมวด” ซึ่งดูเหมือนว่าเศรษฐกิจภายในเริ่มดีขึ้น จึงน่าสนใจที่จะมาดูในรายละเอียดของการฟื้นตัวของการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนว่าเป็นอย่างไร และมีปัจจัยเกื้อหนุนหรือความเสี่ยงในระยะข้างหน้าหรือไม่

ในส่วนของการบริโภคนั้น การขยายตัวของสินค้ากึ่งคงทน และสินค้าไม่คงทน เช่น สินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ (ซึ่งเป็นตัวสะท้อนการใช้จ่ายของคนในทุกระดับ) ก็ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้า แม้ว่าโดยรวมจะยังขยายตัวไม่สูงมากนัก การฟื้นตัวที่ชัดเจนที่สุด คือ การบริโภคสินค้าคงทน ได้แก่ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะรถยนต์ จะเห็นว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศ 5 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวเกือบ 20% (ปีที่แล้วทั้งปี ขยายตัว 13%) ซึ่งกลุ่มที่บริโภคสินค้าคงทนนั้น น่าจะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงเป็นหลัก แต่เนื่องจากมีการขยายตัวต่อเนื่องมาจากปีก่อนหน้า ดังนั้นการขยายตัวน่าจะชะลอลงในครึ่งหลังของปีนี้

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่อาจเกื้อหนุนการฟื้นตัวของการบริโภคในช่วงต่อไป คือ รายได้ของเกษตรกรน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะข้าว (ราคายางยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้เกษตรกรบางส่วนยังมีกำลังซื้อต่ำ) และหากค่าเงินบาทอ่อนก็จะยิ่งเป็นผลดี เพราะจะทำให้รายได้เกษตรกรปรับเพิ่มขึ้นอีก ส่วนนอกภาคเกษตรก็มีสัญญาณดีขึ้น เนื่องจากการผลิตที่เพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น กำลังซื้อก็น่าจะปรับสูงขึ้นด้วย สำหรับผู้มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ (ที่รัฐบาลเรียกว่า ต่ำกว่าเส้นความยากจน) นั้น ภาครัฐก็คงต้องช่วยสนับสนุนเพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับกลุ่มนี้ต่อเนื่องได้

ส่วนการลงทุนเอกชนก็เริ่มมีสัญญาณบวกที่ดี ทั้งนี้เพราะการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องส่งผลให้ภาคการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้มีการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้น โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 70% และในบางอุตสาหกรรมมีการใช้กำลังการผลิตที่สูงถึง 70-80% เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า รถยนต์ และกลุ่มเคมีภัณฑ์ ซึ่งหากผู้ผลิตมีความเชื่อมั่นว่าความต้องการสินค้าจะขยายตัวต่อเนื่องการผลิตก็น่าจะตัดสินใจขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยหากดูจากการขอส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในปีที่ผ่านมาสูงถึง 6 แสนล้านบาท และใน 3 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่าโครงการที่ขอบีโอไออีก 2 แสนล้านบาท ก็ถือว่าปรับตัวดีขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค แต่ก็เริ่มมีการขยายการลงทุนมากขึ้นในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเคมีภัณฑ์ เครื่องจักร รวมทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสอดคล้องกับการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น

ในส่วนของความเชื่อมั่นของธุรกิจนั้น จากการสำรวจโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าระดับความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าของธุรกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดีแม้ว่าจะปรับตัวลงจากการสำรวจเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย (ดัชนีปรับลดจาก 56.2 มาเป็น 55.9) ทั้งนี้ธุรกิจส่วนใหญ่มองภาพการลงทุนและการจ้างงานเพิ่มขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะภาคการก่อสร้างและโลจิสติกส์ (จากความคาดหวังในความคืบหน้าของโครงการลงทุนในเขตอีอีซี)

โดยสรุป ข้อมูลเศรษฐกิจถึงเดือนพฤษภาคม แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจภายในปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งการบริโภคและการลงทุน และมีความหวังว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าแรงขับเคลื่อนหลักของการฟื้นตัวยังคงมาจากปัจจัยภายนอก คือการส่งออกและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ธุรกิจก็คาดหวังความคืบหน้าของนโยบายรัฐบาลที่ผลักดันโครงการอีอีซีให้เกิดขึ้นตามแผนที่วางไว้ ดังนั้น ความเสี่ยงที่จะทำให้แรงส่งที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจภายใน ก็คือ ผลกระทบของนโยบายการปกป้องการค้าของสหรัฐและการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐ (เป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิด และอาจมีผลต่อเศรษฐกิจต่อเนื่องไปถึงปีหน้าได้) รวมทั้งความสามารถในการผลักดันโครงการภาครัฐ ซึ่งหากเกิดความล่าช้าก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในอนาคตได้