หลักการบริหารเงินแบบ Pay as You Go

คอลัมน์ คุยฟุ้งเรื่องการเงิน

โดย ทอมมี่ แอคชัวรี www.actuarialbiz.com

 

 

 

 

 

คำว่า “ภาษีคนโสด” เป็นคำที่กล่าวถึงกันมากในช่วงนี้ เนื่องจากมันดูเหมือนจะประชดชีวิตคนโสดอย่างไรไม่รู้ บ้างก็คิดว่าทำไมมีคานไว้อยู่แล้วมันผิดด้วยหรือ บ้างก็เข้าใจกันไปเองว่าภาษีคนโสดนั้นคงกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาษีโรงเรือนและที่ดินไปแล้ว เพราะคำว่าโรงเรือนนั้นหมายถึงอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ซึ่งทำให้ “คาน” ถูกเข้าใจผิดโดนเหมารวมเข้าไปอยู่ในนั้นด้วยแน่เลย เป็นต้น

มีข้อถกเถียงกันไปต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับความเหมาะสมในการจัดเก็บภาษีคนโสด ประกอบกับกระแสของคนโสดที่ออกมาค้านกับแนวคิดนี้ จึงทำให้ประเด็นเหล่านี้ตกไป แต่เราลองมาคิดดูว่าถ้าเกิดมีคนคิด “นโยบายลูกคนแรก” ขึ้นมาแล้วจะเป็นอย่างไร

แน่นอนว่า “นโยบายลูกคนแรก” คงจะฟังดูดีกว่า “ภาษีคนโสด” เป็นแน่ แต่ผลลัพธ์นั้นจะออกมาเหมือนกันนั่นก็คือ การกระตุ้นให้คนมีลูกกันมากขึ้น (ซึ่งก็คงไม่ได้ทำเพราะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนที่ต้องการทำในการออก “นโยบายรถคันแรก”) เพื่อให้เกิดความสมดุลของประชากรวัยทำงานกับวัยสูงอายุในอนาคตข้างหน้า มิเช่นนั้นแล้วประเทศก็จะขาดกำลังสำคัญจากประชากรวัยทำงานซึ่งจะต้องเป็นคนคอยเสียภาษีให้กับภาครัฐ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าแนวคิดเหล่านี้ได้ทำขึ้นเพื่อเป็นการเตรียมตัวของภาครัฐสำหรับการเลี้ยงดูคนในยามเกษียณของประเทศนั่นเอง

ภาษีจึงได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดความสมดุลของประชากรศาสตร์ เพื่อควบคุมปริมาณประชากรในแต่ละช่วงอายุให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม โดยในประเทศจีนเองก็มีการออกระเบียบการในรูปแบบค่าปรับทางภาษีในการมีลูกมากกว่า 1 คน เพื่อจำกัดจำนวนประชากรที่จะเกิดมา ซึ่งก็ตรงกันข้ามกับประเทศสิงคโปร์ที่ต้องการจะเร่งผลิตจำนวนประชากรและได้มีกฎระเบียบที่ออกมาในรูปแบบของการลดหย่อนภาษีสำหรับคนที่ไม่โสด (หรือได้แต่งงานอยู่กินด้วยกัน)

โดยปกติแล้วภาครัฐสามารถได้แบ่งวิธีการเตรียมตัวสำหรับการเลี้ยงดูคนในยามเกษียณออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

1.การจ่ายและเก็บภาษีตามมีตามเกิด หรือในทางภาษาคณิตศาสตร์ประกันภัยจะเรียกว่า วิธี pay as you go

2.การจัดตั้งเงินสำรองสำหรับแต่ละคน โดยทางคณิตศาสตร์ประกันภัยจะเรียกว่า reserving basis

เนื่องจากประเทศไทยได้ใช้วิธีการแบบ pay as you go กันข้างต้น และนั่นจึงเป็นที่มาของแนวคิดที่อยากให้คนไทยหันมาแต่งงานและมีลูกกันมากขึ้น เพื่อให้เด็กที่เกิดมานี้กลายเป็นประชากรวัยทำงานที่เสียภาษีเพื่อรองรับกลุ่มคนเกษียณอายุที่ขยายตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดดในวันข้างหน้า

แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังในแนวคิดแบบนี้ก็คือ การมีลูกมากไม่ได้หมายความว่าจะเก็บภาษีได้มากในอนาคต ปัจจัยสำคัญคือการสร้างประชากรและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีคุณภาพเสียก่อน มิเช่นนั้นไม่เพียงแต่รัฐจะจัดเก็บภาษีไม่ได้ แต่ยังเป็นการไปสร้างปัญหาให้มีประชากรล้นประเทศมากขึ้นไปอีก และคนเหล่านี้ก็จะกลายเป็นคนเกษียณอายุที่ไม่ได้รับการเตรียมตัวให้วางแผนการเงินกันมาก่อน

นี่คงเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การจ่ายและเก็บภาษีกันตามมีตามเกิดเพื่อการเตรียมตัวสำหรับการเลี้ยงดูคนในยามเกษียณอย่างแท้จริง