“ค่าเงินบาทแข็งค่า หลังถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์”

ค่าเงินบาท ธุรกิจแลกเงิน
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/8) ที่ 32.62/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/8) ที่ 32.74/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์ อ่อนค่าหลังจากนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวสุนทรพจน์ในวันศุกร์ (24/8) โดยนายพาวเวลล์กล่าวปกป้องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดว่า เป็นสิ่งที่ดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และเขาส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ถึงแม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ จะกล่าววิจารณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นายพาวเวลล์ยังกล่าวอีกว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการปกป้องการฟืนตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และการทำให้การจ้างงานเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

นอกจากนี้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเข้าสู่ระดับที่แบนราบที่สุดนับตั้งแต่ปี 2007 ในวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังจากนายพาวเวลล์กล่าวสุนทรพจน์โดยการแบนราบของเส้นอัตราผลตอบแทนเป็นปัจจัยที่ส่งผลลบต่อดอลลาร์ ในส่วนของการเจรจาประเด็นการค้าระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับกลางของจีน-สหรัฐในสัปดาห์ที่แล้วนั้นแทบไม่ได้ช่วยคลี่คลายความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และรัฐบาลสหรัฐได้จัดการประชุมรับฟังในสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อพิจารณาข้อเสนอจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ด้วย ซึ่งมีแนวโน้มว่าภาษีนำเข้าชุดใหม่นี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายเดือน ก.ย.หรือต้นเดือน ต.ค. โดยการเจรจาระหว่างจีนกับสหรัฐในสัปดาห์ที่แล้ว เกิดขึ้นในช่วงที่ทั้งสองฝ่ายทำตามคำขู่ที่จะเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมจากสินค้ามูลค่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ของอีกประเทศหนึ่ง ทำให้รัฐบาลจีนยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ WTO เรื่องภาษีนำเข้าของสหรัฐด้วย และรัฐบาลสหรัฐเรียกร้องให้รัฐบาลจีนปรับปรุงช่องทางเข้าถึงตลาด, คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐ ปรับลดเงินอุดหนุนอุตสาหกรรมจีน และปรับลดยอดเกินดุลการค้าของจีนต่อสหรัฐลงจากระดับ 3.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.53-32.67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.57/59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (27/8) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1634/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/8) ที่ 1.1570/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเจ้าหน้าที่เยอรมนีและสหรัฐกล่าวในวันเสาร์ว่า รัฐบาลสหรัฐกำลังกดดันให้สหภาพยุโรป (อียู) เร่งรัดการเจรจาต่อรองทางการค้า โดยการเจรจานี้เริ่มต้นหลังจากการประชุมในเดือน ก.ค.ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ กับนายฌอง-คล็อก ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) โดย ปธน.ทรัมป์เคยตกลงกับนายยุงเกอร์ในการประชุมว่า สหรัฐจะงดเว้นจากการเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ยุโรป ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายเริ่มต้นการเจรจาต่อรองกันเรื่องการปรับลดภาษีนำเข้าเหล็กกล้า, อะลูมิเนียม และสินค้าอื่น ๆ การบรรลุข้อตกลงกันในครั้งนั้นช่วยลดภัยคุกคามจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับอียู แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐแสดงความไม่พอใจที่การเจรจาคืบหน้าไปได้อย่างเชื่องช้าในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1594-1.1653 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1611/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้ (27/8) เปิดตลาดที่ระดับ 111.19/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (24/8) ที่ระดับ 111.44/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนได้รับแรงหนุนหลังจากนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงยึดกลยุทธ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อปกป้องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.94-111.36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.16/19 เยนดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือน ก.ค. (28/8), ตัวเลขสต็อกสินค้าและยอดขายส่งเดือน ก.ค. (28/8), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเดือน ส.ค. (28/8), ตัวเลขประมวลการครั้งที่ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 2/2018 (29/8), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐในช่วงท้ายเดือน ส.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (31/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.80/-2.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือน ต่างประเทศอยู่ที่ -6.00/-5.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

………….

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”