ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่า นักลงทุนจับตาเจรจาประเด็นการค้าจีนและแคนาดา

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลืื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 5 กันยายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/9) ที่ระดับ 32.76/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (4/9) ที่ระดับ 32.77/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เนื่องจากนักลงทุนยังคงจับตาการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ฉบับใหม่ระหว่างสหรัฐ และแคนาดาในวันนี้ หลังจากที่ตัวแทนเจรจาการค้าของทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุ้อตกลงกันได้เมื่อวันศุกร์ที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ทวีตข้อความถึงการเจรจาดังกล่าวว่า “ไม่มีความจำเป็นทางการเมืองที่จะให้แคนาดาอยู่ในข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่ โดยถ้าหากสหรัฐ ไม่สามารถทำข้อตกลงที่เป็นธรรม หลังจากที่ถูกเอาเปรียบมานานหลายสิบปี ดังนั้นแคนาดาเองก็ต้องเป็นฝ่ายที่ต้องออกจากขัอตกลง NAFTA ไป และสำหรับสภาคองเกรสนั้นก็ไม่ควรเข้าแทรกแซงในการเจรจาดังกล่าว มิฉะนั้นทางสหรัฐ จะยกเลิกข้อตกลง NAFTA ทั้งหมด” ในช่วงระหว่างวันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย โดยนักลงทุนยังจับตาการทำประชาพิจารณ์ต่อข้อเสนอของสหรัฐ ในการเก็บภาษีครั้งใหม่กับสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งมีแนวโน้มว่าสหรัฐอาจจะมีการเก็บภาษีเพิ่มเติมจากจีนมูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงได้รับปัจจัยหนุนหลังจากได้มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีภาคการผลิตของ ISM ประจำเดือนสิงหาคม ออกมาเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 61.3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2547 และเพิ่มสูงขึ้นจากระดับ 58.1 ในเดือนกรกฎาคม พร้อมทั้งหลังจากสกุลเงินของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ถูกเทขายอย่างหนัก ทั้งค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียอ่อนค่าลงเช่นเดียวกับค่าเงินของธุรกิจและอาร์เจนติน่าที่อ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.77-87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.70/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (5/9) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1594/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (4/9) ที่ระดับ 1.1565/68 สหรัฐ/ยูโร หลังจากที่เมื่อวานนี้ (4/9) ได้มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตของยูโรโซน ประจำเดือนกรกฎาคม ออกมาเพิ่มขึ้น 0.4% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.3% พร้อมทั้งได้มีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ประจำเดือนสิงหาคม ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 54.4 ระดับเดียวกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1541-1.1608 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1572/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (5/9) เปิดตลาดที่ระดับ 111.61/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (4/9) ที่ระดับ 111.51/53 เยน/ดอลลาร์ โดยค่าเงินเยนยังได้รับผลกระทบจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.36-111.71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.51/52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขดุลการค้าประจำเดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (5/9), ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนกรกฎาคมของเยอรมนี (6/9), ดุลการค้าเดือนกรกฎาคมของเยอรมนี (7/9), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 ของยูโรโซน (7/9), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนสิงหาคมของสหรัฐ (7/9) และอัตราว่างงานของสหรัฐ (7/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -3.35/-3.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.85/-2.15 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ