1 ก.พ.แบงก์ห้ามเขียนเช็คผิด 600 หน่วยงานวุ่นรับ-จ่ายออนไลน์ไม่ได้

กรมบัญชีกลางร่อนหนังสือเวียนแจ้งส่วนราชการ 7.8 พันแห่ง ดีเดย์ 1 ก.พ.เป็นต้นไป แบงก์เลิกรับเช็คที่มีการ “ขีดฆ่า” ชี้ส่วนราชการไม่ได้รับผลกระทบ เหตุเปลี่ยนไปใช้ระบบออนไลน์รับจ่ายเงินเกือบหมดเหลือแค่ 600 แห่ง 

นายพรชัย หาญยืนยงสกุล รองอธิบดี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่กรมบัญชีกลางได้ออกหนังสือเวียน เรื่อง ขอประชาสัมพันธ์กรณีธนาคารยกเลิกการรับเช็คที่มีการแก้ไขข้อความ ไปยังส่วนราชการต่าง ๆ ให้ได้รับทราบนั้น

สืบเนื่องมาจากการที่ธนาคารกรุงไทย (KTB) ได้ขอให้ทางกรมบัญชีกลางช่วยแจ้งประชาสัมพันธ์แก่ส่วนราชการที่มีการใช้เช็คของธนาคารกรุงไทยอยู่มาก เพื่อให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ตกลงกับสมาคมธนาคารไทยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2562 เป็นต้นไป ทุกแบงก์จะยกเลิกการรับเช็คที่มีการขีดฆ่า

“การเขียนเช็คด้วยมือ มีโอกาสผิดพลาด ซึ่งเดิมถ้าเขียนผิด ก็ใช้วิธีขีดฆ่า แล้วก็เซ็นชื่อกำกับ แต่ต่อไปจะทำเช่นนั้นไม่ได้แล้ว เพราะตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.นี้เป็นต้นไป ธปท.กับสมาคมธนาคารไทยได้ออกประกาศไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งรับเช็คที่มีลักษณะขีดฆ่าแล้ว หากมีการขีดฆ่าก็ให้ออกเช็คใบใหม่ไปเลย”

นายพรชัยกล่าวว่า จริง ๆ แล้วการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ ไม่ได้มีเฉพาะหนังสือเวียนของกรมบัญชีกลางเท่านั้น แต่ทาง ธปท.และ สมาคมธนาคารไทยก็จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน และภาคธุรกิจเอกชนได้รับทราบด้วย แต่เนื่องจากกรมบัญชีกลางดูแลส่วนราชการกว่า 7,800 แห่ง จึงมีการฝากให้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้

“เรื่องผลกระทบต่อการใช้เช็คของส่วนราชการคงมีไม่มาก เพราะปัจจุบันเรามีนโยบายให้ทุกส่วนราชการเปลี่ยนไปใช้ระบบ KTB corporate online (แบบฟอร์มที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูลหน่วยงานระดับหน่วยเบิกจ่าย สามารถโอนเงินที่ผู้มีสิทธิรับเงินเข้าทางบัญชีธนาคารที่ผู้รับเงินแจ้งไว้ได้โดยตรง) มาตั้งแต่ปี 2559 แล้ว ซึ่งปัจจุบันส่วนราชการประมาณ 7,200 แห่ง เลิกเขียนเช็คแล้ว เหลือแค่กว่า 600 แห่ง ที่ยังเขียนเช็คอยู่”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบาย National e-Payment โดยกำหนดให้การรับจ่ายเงินภาครัฐต้องเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดการใช้เช็คลงให้เป็นศูนย์ โดยเปลี่ยนไปใช้งานช่องทาง KTB corporate หรือผ่าน QR code หรือผ่านเครื่องรูดบัตร แทน ซึ่งทั้ง 3 ช่องทางนี้จะสามารถติดตามตรวจสอบสถานะการรับจ่ายเงินได้ตลอดเวลา

นายพรชัยกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2560 ทาง ธปท.และสมาคมธนาคารไทยได้มีการส่งเสริมให้มีการใช้การถ่ายภาพในการรับจ่ายเช็คข้ามธนาคาร ซึ่งเข้าใจว่ากรณีที่มีรอยขูดขีดฆ่าจะทำให้พิสูจน์ยาก จึงนำมาสู่การออกประกาศให้แบงก์ยกเลิกรับเช็คที่มีลักษณะดังกล่าว

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเรื่องนี้คงไม่กระทบ เพราะปัจจุบันธุรกิจใช้เช็คน้อยลง หันมาใช้ระบบออนไลน์มากขึ้น แต่ภาคเอกชนกังวลกรณีที่ติดต่อกับภาครัฐ ซึ่งหากให้ยื่นเอกสารยังจำเป็นต้องใช้เช็คอยู่ ดังนั้น ขอให้หน่วยงานต้องเตรียมระบบหรือวิธีการสำรองในเรื่องนี้ไว้รองรับในการให้บริการด้วย

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!