คลังชี้ตั้งงบฯปี’63 ไม่ได้รับผลกระทบกรณีจัดตั้งรัฐบาลลากยาว เตรียมปรับจีดีพีเดือนหน้า-จับตาส่งออกมี.ค.

นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในเดือน เม.ย. จะเป็นรอบการปรับประมาณการเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง จากเดิมที่ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 4% โดยขณะนี้ถือว่ายังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าไตรมาสแรกเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ระดับใด

โดยในการประชุมหารือภาวะเศรษฐกิจ วันนี้ (27 มี.ค.) ได้มีการสอบถามตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงเหตุผลการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยเหลือ 3.8% นั้น เนื่องจากประเมินว่าการส่งออกจะขยายตัวลดลง อย่างไรก็ดี ทางกระทรวงการคลังยังต้องรอดูตัวเลขการส่งออกให้ชัดเจนในเดือน มี.ค.นี้ก่อน ขณะที่ปัจจัยการเมืองนั้น แน่นอนว่า การมีเสถียรภาพทางการเมืองจะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และการถือครองพันธบัตรของสถาบันการเงินไทย อย่างไรก็ดี ผลกระทบหากการจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อนั้น คงต้องขอประเมินให้ชัดเจนก่อน

“ตอนนี้เรายังมีคณะรัฐมนตรีที่ทำงานได้เต็มรูปแบบ มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ยังปฏิบัติหน้าที่ได้อยู่ ซึ่งเราเคยคาดเดาปัญหา กรณีหาการจัดตั้งรัฐบาลได้ล่าช้า จะกระทบการจัดทำงบประมาณประจำปี ซึ่งปีงบประมาณ 2563 ไม่มีปัญหา เพราะ ครม.รับหลักการไปแล้ว รอเข้า สนช. หรือสภาใหม่เท่านั้น” นายวโรทัยกล่าว

นายวโรทัยกล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ. มีสัญญาณทรงตัว โดยการบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้ปรับตัวลดลงเล็กน้อย ในขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งยังขยายตัวได้ดี สำหรับการลงทุนภาคเอกชนที่สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์และภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง แต่ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์และเหล็กกลับลดลงเล็กน้อย

สำหรับด้านอุปทาน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวชะลอลงตามนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัวเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตเกษตรและรายได้เกษตรกรยังขยายตัวต่อเนื่องตามราคาสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 22 เดือน ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 73 เดือน ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่มั่นคง

ขณะที่นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค.กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (RSI) ประจำเดือน มี.ค.2562 ชี้แนวโน้มอนาคตเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัวดีทั่วทุกภูมิภาค นำโดยภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร