ต่างชาติอู้ฟู่ฟันกำไร 2 เด้ง 1 เดือนกินรวบ “บอนด์-หุ้น-ค่าบาท”

การเคลื่อนไหวของเงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ที่ไหลทะลักเข้าประเทศไทย ที่ถูกยกให้เป็น safe heaven ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเฟดส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะลดดอกเบี้ยนโยบาย ช่วงกลางเดือน พ.ค. 62 ยิ่งผลักดันฟันด์โฟลว์เข้าเก็งกำไรทั้งในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น

โดยดัชนี SET ในช่วง 15 พ.ค.-20 มิ.ย. 62 (กว่า 1 เดือน) ปรับตัวขึ้นราว 5.14% จากปิดตลาดวันที่ 14 พ.ค. อยู่ที่ 1,633.84 จุด ขึ้นมาปิดวันที่ 20 มิ.ย.ที่ระดับ 1,717.82 จุด โดยวันที่ 19 มิ.ย. วอลุ่มทะลุ 1 แสนล้านบาท ซึ่งช่วงเวลาเดียวกันต่างชาติซื้อสุทธิ 26,413 ล้านบาท ฝั่งค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ล่าสุด (20 มิ.ย.) หลุดลงมาที่ 30.92 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจาก 15 พ.ค. 62 ที่อยู่ 31.53 บาท/ดอลลาร์ ทำให้ช่วงกว่า 1 เดือนค่าเงินบาทแข็งขึ้นราว 0.61 บาท หรือ 1.9% ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจมุมมองต่อแนวโน้มการเคลื่อนไหวทั้งบอนด์และหุ้น ดังนี้

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ช่วงนี้เงินทุนต่างชาติทะลักเข้าไทยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะไหลเข้าเก็งกำไรผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ (บอนด์) และเก็งกำไรค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าขึ้น เพราะเห็นว่าไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง จึงสามารถทำกำไรได้ 2 เด้ง

“ตอนนี้สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อในประเทศไม่ดี ดังนั้น เศรษฐกิจจะขยายตัว ก็จะต้องมาจากการส่งออก แต่ตอนนี้การนำเข้ามีทีท่าว่าจะแย่กว่าอีก ดังนั้น ดุลบัญชีเดินสะพัดของเรายังเกินดุลอยู่มาก ต่างชาติก็มองว่าไทยเก็งกำไรได้เพราะบอนด์ยีลด์ (ผลตอบแทนจากตราสารหนี้) อายุ 10 ปียังสูงอยู่ โดยเฉพาะเรียลยีลด์ (ดอกเบี้ยแท้จริงจากการลงทุน ซึ่งหักเงินเฟ้อแล้ว) ที่สูงจะเป็นตัวกดเศรษฐกิจไม่ดี (กระทบต้นทุนธุรกิจสูง) เพราะฉะนั้น เขาถึงได้เก็งกำไรจากการถือบอนด์และค่าเงินบาทที่แข็ง มองเงินบาทเป็น one way bet (แข็งค่าทางเดียว)” นายศุภวุฒิกล่าว

แหล่งข่าวจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า บอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีมีการปรับตัวลดลงรวดเร็วตั้งแต่ช่วงกลางเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ประธานาธิบดีสหรัฐ “ทรัมป์” ประกาศชัดเจนเก็บภาษีจีน ยิ่งกดดันให้สงครามการค้ารุนแรงขึ้น โดยวันที่ 15 พ.ค. 62 บอนด์ยีลด์อายุ 10 ปี อยู่ที่ 2.5% ไหลลงรวดเร็วมาอยู่ที่ 2.17% (19 มิ.ย.) หรือไหลลงราว 0.33% คิดเป็น 13% ในเวลา 1 เดือน

“บอนด์ยีลด์ไทยร่วงลงมาเยอะโดยเฉพาะ 10 ปี ซึ่งมีแนวโน้มลงได้อีกจากภาวะเศรษฐกิจของไทย ถ้าดูส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี กับ 2 ปีตอนนี้อยู่ที่ 40 bps (0.40%) ซึ่งต่ำมากแล้ว ขณะที่ต้นปียังมีส่วนต่างสูง 60 bps (0.60%) ขณะที่ช่วงกลางเดือน พ.ค. ฟันด์โฟลว์ไหลหนัก ๆ และปลายเดือน พ.ค. สหรัฐฯก็ออกมาบอกหยุดดอกเบี้ยขาขึ้นและน่าจะเป็นขาลง ยิ่งทำให้ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าต่อเนื่องในเดือน มิ.ย. และเริ่มมีขายบางส่วน ทำกำไรในบางวัน แต่รวม ๆ ยังเข้าซื้อสุทธิอยู่”

ทั้งนี้ ฟันด์โพลว์ที่ไหลเข้าบอนด์ในช่วงเดือน พ.ค. 62 ทำให้พลิกเป็นยอดซื้อสุทธิ 13,464 ล้านบาท และไหลเข้าต่อในเดือน มิ.ย. (ณ 19 มิ.ย.) ทำให้มียอดซื้อสุทธิอยู่ที่ 44,045 ล้านบาท รวมระยะ 1 เดือนกว่า ฟันด์โฟลว์ทะลักเข้าบอนด์ไทย 57,509 ล้านบาท

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า เฟดส่งสัญญาณอาจปรับลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ กดดันให้บอนด์ยีลด์ของรัฐบาลสหรัฐปรับลงมาอยู่ระดับ 2% แต่หนุนสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นให้ผลตอบแทนน่าสนใจมากขึ้น แม้ว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปีนี้คาดจะทรงตัวหรือดีขึ้นเล็กน้อยในช่วงที่เหลือของปี แต่ต่างชาติก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ย 3-4% สูงกว่าบอนด์ยีลด์สหรัฐ

นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ให้น้ำหนักประเด็นเฟดมีแนวโน้ม “ลดดอกเบี้ย” มากที่สุด ส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นค่อนข้างสูงในระยะสั้น หากเทรนด์ดอกเบี้ยจะอยู่ในช่วงขาลง คาดว่าในระยะสั้น SET index จะมีโอกาสขึ้นไปทดสอบที่ระดับ 1,750 จุด ขณะที่ประเมินฟันด์โฟลว์มีโอกาสซื้อสุทธิไปจนถึงไตรมาส 3/62 แต่ยังต้องระวังปัจจัยสงครามการค้ายังมีความไม่แน่นอนสูง

“ปัจจัยพื้นฐานตลาดหุ้นไทยเมื่อต้นเดือน พ.ค. 62 จากข้อมูลของบลูมเบิร์ก พบว่า market EPS (กำไรต่อหุ้นทั้งตลาด) ของปีนี้ลงเล็กน้อยจาก 107 บาท/หุ้น มาอยู่ที่ 106 บาท/หุ้น โดยแนวโน้มกำไร บจ.ครึ่งปีหลังน่าจะปรับตัวดีขึ้นได้หลังจากที่ครึ่งปีแรกที่ บจ.มีการบันทึกค่าใช้จ่ายพิเศษที่ตั้งสำรองพนักงานเกษียณ” นายภาสกรกล่าว

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นเร็วและแข็งกว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค โดยปัจจัยภายนอกมีบทบาทสำคัญ ทั้งนี้ ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดย ธปท.จะเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามธุรกรรมที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้ไทยเป็นแหล่งพักเงินระยะสั้น เพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท.ไม่พึงประสงค์