ธปท.จ่อคุม DSR กลุ่มเสี่ยง “KKP” หดเป้าสินเชื่อโต 5%

KKP เผยแบงก์ชาติจ่อคุม DSR 3 กลุ่มเสี่ยง “เริ่มทำงาน-เกษียณแล้ว-เงินเดือนไม่เกิน 3 หมื่นบาท” คาดตีกรอบทุกแบงก์ปล่อยกู้คนรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาท/เดือนได้ไม่เกิน 70% ของเงินเดือน ยอมรับปัจจุบันยังเกิน แถมไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลข้ามธนาคาร “อภินันท์” คาดกำไรกลุ่มการเงิน KKP ปี’62 ทรงตัว ลดเป้าสินเชื่อปีนี้โต 5% จากเดิมตั้งเป้าโต 8% หลังครึ่งปีแรกสินเชื่อโตแค่ 2.1%

นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารเกียรตินาคิน เปิดเผยว่า ธนาคารได้หารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแล โดยกำหนดเกณฑ์หนี้สินต่อรายได้ (DSR) ใน 3 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.กลุ่มเริ่มทำงาน (first jobber) 2.กลุ่มเกษียณอายุ และ 3.กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/เดือน ซึ่ง ธปท.จะกำหนดให้ DSR ไม่ควรเกิน 70% (รวมทุกธนาคาร) หรือไม่เกิน 21,000 บาท และผู้กู้ควรมีเงินเหลือใช้จ่ายราว 30% ของเงินเดือน หรือ 9,000 บาท ซึ่งปัจจุบัน DSR ยังเกิน 70% อยู่ รวมถึงยังมีความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้า เนื่องจากไม่ได้ตรวจสอบกับธนาคารอื่นก่อน

“ในช่วงครึ่งปีที่เหลือของปี 2562 ธนาคารจะเน้นการปรับปรุงให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น การปล่อยสินเชื่อใหม่ที่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระของลูกค้า และไม่กระตุ้นสินเชื่อจนเกินไป เช่น การทำแคมเปญหรืออัดโปรโมชั่นสินเชื่อ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มลูกค้าของธนาคาร ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ไม่มีเงินเดือนประจำ (nonsalary) จึงมีข้อจำกัดในการหาแหล่งรายได้ของลูกค้า” นายฟิลิปกล่าว

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ปี 2562 นี้ คาดว่ากำไรของ KKP จะทรงตัว เนื่องจากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากสภาวะของตลาด ไม่ว่าจะการหดตัวของการลงทุนภาคเอกชน การส่งออก จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ในอนาคตยังมีความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าและภัยแล้ง อย่างไรก็ตาม สำหรับครึ่งปีแรกในส่วนธุรกิจธนาคารพาณิชย์ยังคงสามารถรักษาอัตราการเติบโตด้านสินเชื่อที่ 2.1% ได้

โดยทั้งปีคาดว่าสินเชื่อจะเติบโตได้ 5% ชะลอลงจากเดิมคาดว่าจะเติบโต 8% โดยเติบโตในกลุ่มสินเชื่อบรรษัท (corporate lending) สินเชื่อลอมบาร์ด (lombard loan) ที่ปล่อยกู้ให้นิติบุคคลนำไปลงทุนในหุ้น และสินเชื่อธุรกิจ (commercial lending) ซึ่งล้วนเป็นสินเชื่อที่ให้แก่ลูกค้ากลุ่มที่มีเครดิตดี และน่าจะให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ แม้ในสภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายและมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา
สินเชื่อ 3 ประเภทนี้มีการเติบโต 17% 3.9% และ 0.6% ตามลำดับ

ส่วนสินเชื่อลูกค้ารายย่อยก็มีการขยายตัวเกือบทุกประเภท มีเพียงสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่ธนาคารชะลอการเติบโต เพื่อรักษาคุณภาพสินเชื่อ ลดการก่อตัวของหนี้เสียในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งนี้ แม้อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จะเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยก็เป็นการปรับตัวตามความคาดหมาย และตามรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ได้เพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสอง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ให้อัตราผลตอบแทน (ยีดล์) ที่ดีกว่ารถยนต์ใหม่

ด้านธุรกิจตลาดทุนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของธุรกิจนายหน้าค้าหลักหลักทรัพย์ ซึ่ง บล.ภัทรมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่ง ธุรกิจวาณิชธนกิจ (IB) ซึ่งคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังและปีหน้า จะมีรายได้จากธุรกรรมใหญ่หลายรายการที่ บล.ภัทรได้รับเลือกให้ดำเนินการ ได้แก่ ดีลการควบรวมระหว่างธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต รวมถึงดีลการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของเซ็นทรัล รีเทล โดยในช่วงครึ่งปีแรกทำรายได้จากธุรกิจ IB ไปราว 200-300 ล้านบาท และเชื่อว่าครึ่งปีหลังรายได้ส่วนนี้จะเติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรก

นายอภินันท์กล่าวว่า สำหรับธุรกิจ wealth management ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำเพิ่มขึ้น เป็น 547,000 ล้านบาท โดยยังคงรุกหน้าเพิ่มผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความซับซ้อนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังบุกเบิกบริการด้านการลงทุนตรงในสินทรัพย์ต่างประเทศที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกองทุน หรือตราสารหนี้ ผ่านการร่วมมือกับบริษัทจัดการกองทุนระดับโลก อาทิ BlackRock และ PIMCO หรือแม้กระทั่งการนำเสนอผลิตภัณฑ์ของ private markets เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ Global Investment Service