กรมศุลฯเก็บภาษีเดือนแรกต่ำเป้า ปัดเขตปลอดอากรเอื้อเฉพาะราย

กรมศุลฯเก็บรายได้ ต.ค.ต่ำเป้า 99 ล้านบาท ตามแนวโน้มการนำเข้าที่ชะลอตัว แจงออกประกาศเขตปลอดอากร “อีคอมเมิร์ซ” ในพื้นที่อีอีซีไม่ได้เอื้อผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากรในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้ในเดือน ต.ค. 2562 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 62-ก.ย. 63) กรมศุลฯมีการจัดเก็บรายได้รวมได้ 52,192 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นส่วนที่เป็นอากรศุลกากร 8,701 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 99 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน ต.ค.มีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่วนที่เหลือเป็นการจัดเก็บรายได้แทนหน่วยงานอื่น 43,491 ล้านบาท

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกองบริหารจัดการและพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลการนำเข้าส่งออกและโลจิสติกส์ กรมศุลฯ กล่าวว่า ตามที่ได้มีประกาศกรมศุลกากรที่ 204/2562 เรื่องการปฏิบัติพิธีการศุลกากร ณ เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ยืนยันว่าประกาศดังกล่าวเปิดกว้างสำหรับนักลงทุนทุกราย ไม่ได้เจาะจงแค่รายใดรายหนึ่งตามที่มีกระแส

โดยผู้ประกอบการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามประกาศ ต้องเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งต้องมีการลงทุนที่เรียกว่า สมาร์ทดิจิทัลฮับ คือต้องลงทุนระบบสายพานลำเลียง ระบบคิวอาร์โค้ด ระบบเอกซเรย์ที่เป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้กรมศุลฯสามารถอำนวยความสะดวกและควบคุมการเข้า-ออกของสินค้าได้

“มีคำถามว่า ผู้ประกอบการไทยจะได้อะไร ต้องบอกว่า จริง ๆ แล้ววัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่จะให้มีการลงทุนในเขตอีอีซีในเรื่องอีคอมเมิร์ซ ก็เพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอี ที่ผลิตสินค้าโอท็อปได้มีช่องทางการขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มที่เป็นสากล เพื่อให้เป็นที่นิยมไปยังต่างประเทศ” นายพันธ์ทองกล่าว

ส่วนความคืบหน้าการเชื่อมโยงข้อมูลกับ ASEAN Single Window (ASW) นายพันธ์ทองกล่าวว่า ปัจจุบันมีการเชื่อมโยงใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (ฟอร์มดี) เพื่อให้ได้รับสิทธิการลดอัตราอากรกับทางอาเซียนแล้ว 7 ประเทศ ส่วนอีก 3 ประเทศ คาดว่าภายในสิ้นปี 2562 นี้จะเชื่อมกับฟิลิปปินส์และเมียนมาเสร็จเรียบร้อย ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไม่ต้องนำฟอร์มดีไปยื่นกับประเทศปลายทาง แต่สามารถส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ส่วน สปป.ลาวอยู่ระหว่างพัฒนาระบบ