“สมคิด”เร่งปั๊มชีพจรธุรกิจ ระดมทีมสกัดหนี้เสียลาม

แฟ้มภาพ

“สมคิด” ระดมทีมแก้ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว เดินสายประชุม “คลัง-แบงก์ชาติ-กกร.-สภาพัฒน์-อีอีซี” ปั๊มชีพจรเศรษฐกิจ ธปท.หวั่นปัญหา”หนี้ด้อยคุณภาพ” ลามจากเอสเอ็มอีสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ เร่งเกมปรับโครงสร้างหนี้ ประคองไม่ให้ “ผู้ประกอบการล้ม” กูรูเศรษฐศาสตร์ชี้ ศก.ไทยปี 2563 ไม่มีข่าวดี ฝากความหวัง “ลงทุนรัฐ”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดรายงานการประชุมร่วมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมาระบุว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนและสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอียังคงน่ากังวล โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่คุณภาพของสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีด้อยลงต่อเนื่อง และปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพเริ่มขยายวงจากธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งเดิมมีความเปราะบางสูงไปสู่ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

เดินสาย “คลัง-สภาพัฒน์-อีอีซี”

ผู้สื่อข่าวรายงานหลังจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือแนวทางดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีร่วมกันเมื่อ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในขณะนี้ได้ส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรงต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จนทำให้เกิดปัญหาทางธุรกิจและผิดนัดชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้น

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม รองนายกฯสมคิดเพิ่งไปประชุมหารือเรื่องแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2563 กับสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และวันที่ 6 ม.ค. 2563 จะไปติดตามความคืบหน้าการลงทุนของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ชงออกแพ็กเกจใหญ่ 7 ม.ค.

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมที่กระทรวงการคลังว่า โดยได้มอบนโยบายให้ทุกฝ่ายไปพิจารณาหารือร่วมกัน เพื่อเสนอเป็นแพ็กเกจดูแลเอสเอ็มอีให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 7 ม.ค. 63 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถือเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย ในยามเศรษฐกิจถดถอย เอสเอ็มอีก็จะได้รับผลกระทบก่อน หากปล่อยไปปัญหาก็จะหนักขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงให้ทุกฝ่ายมาร่วมกัน เบื้องต้นก็มี 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่กำลังเป็นหนี้เสียอยู่จะช่วยให้อยู่รอดและฟื้นตัวได้ อีกกลุ่มคือเอสเอ็มอีที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย ต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา

“บสย.และเครดิตบูโรต้องมีบทบาทเข้ามาช่วยดูแลในภาวะที่เอสเอ็มอีลำบาก แบงก์ก็จะดูว่าจะทำอย่างไรให้ปล่อยสินเชื่อได้สะดวก พวกค่าธรรมเนียมจะผ่อนคลายได้แค่ไหน” นายสมคิดกล่าวและว่า

ปลดล็อก “เอสเอ็มอี-LTV”

รวมทั้งได้ให้ ธปท.ไปพิจารณาการผ่อนปรนสินเชื่อ ดอกเบี้ยบัตรเครดิต รวมทั้งผ่อนคลายมาตรการ LTV สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ว่าจะสามารถดูแลส่วนใดได้บ้าง ก็ให้หารือกันว่าจะผ่อนคลายกันอย่างไรให้หายใจได้คล่องขึ้น โดยได้ตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามและดูแลเรื่องดังกล่าว โดยมีนายอุตตม สาวนายน รมว.คลังเป็นประธาน และมี ธปท. สมาคมธนาคารไทย กกร. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นคณะทำงาน

นายอุตตมกล่าวว่า เบื้องต้นจะพิจารณาว่าจะสามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาจากการเป็นหนี้กับธนาคารพาณิชย์ที่มี บสย.ค้ำประกันอย่างไรได้บ้าง รวมถึงจะเข้าไปดูแลในส่วนที่เป็นหนี้ส่วนบุคคล มอบหมายให้กรมสรรพากรพิจารณาประเด็นเรื่องภาษี ที่จะช่วยการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง จะต้องพิจารณาในส่วนนี้ด้วยว่าจะสามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้อย่างไร

ธปท.แตะเบรกแบงก์รีบฟ้อง

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้มีการหารือกับ บสย.และสมาคมธนาคารไทย เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้เอสเอ็มอี ซึ่งตอนนี้พบว่ามีปัญหาผิดนัดชำระหนี้อยู่ค่อนข้างมาก นโยบายจึงให้ความสำคัญกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงรุก ซึ่ง ธปท.เข้าไปดูแลแก้ไขผ่อนคลายเกณฑ์ให้ชัดเจน เพื่อให้ลูกค้ามีความสามารถในการชำระหนี้

“หนี้ที่ปล่อยผ่านการค้ำประกันของ บสย. ซึ่งพบว่ามีหนี้เกือบ 4 หมื่นล้านบาทที่ถูกฟ้องผิดนัดชำระหนี้ จึงต้องการให้ช่วยกันหารือว่าจะปรับโครงสร้างหนี้กลุ่มนี้อย่างไร ซึ่ง บสย.ไม่มีกลไกความสามารถ ต้องอาศัยธนาคารเป็นผู้ปรับโครงสร้างหนี้ และหากทุกแบงก์เร่งฟ้อง ลูกหนี้ก็จะมีปัญหาติดอยู่ในคดี ซึ่งกระทบกับวงเงินที่มีกับธนาคารอื่น ด้วย และจะปล่อยสินเชื่อเพิ่มก็ไม่ได้”

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แนวทางปฏิบัติการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตอนนี้ ธนาคารจำเป็นต้องฟ้องลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระก่อน เพื่อเรียกร้องหลักประกันจาก บสย. ซึ่งกระบวนการนี้ก็เป็นอุปสรรคต่อการปรับโครงสร้างหนี้เอสเอ็มอี เนื่องจากภายใต้เกณฑ์ความเสี่ยงธนาคารก็ไม่กล้าปล่อยวงเงินเพิ่มเติมให้กับลูกค้าที่ผิดนัดชำระ เพราะเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อเอ็นพีแอลและการตั้งสำรองหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น เรื่องนี้จึงต้องหาแนวทางร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะมีการประชุมหารือกันอีกครั้งและแนวทางทุกอย่างน่าจะเกิดขึ้นภายในวันที่ 7 ม.ค.นี้

แก้นิยามธุรกิจเอสเอ็มอี

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่าเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. รมว.คลังมีการประชุมหารือช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมีมูลค่าสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีรวมกันเกือบ 6 ล้านล้านบาท และเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่กว่า 3 แสนล้านบาท โดยจะให้มีการปลดล็อก พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อให้สามารถเร่งจัดซื้อจัดจ้างได้เร็วขึ้นด้วย

“กรมสรรพากรอาจจะต้องแก้นิยามของธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ใช้อยู่กับมาตรการทางด้านภาษีต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับนิยามที่มีการปรับทั่วไปแล้ว คือ ให้หมายถึงผู้ประกอบการที่มียอดขายไม่เกิน 500 ล้านบาท จากปัจจุบันยังกำหนดยอดขายไม่เกิน 30 ล้านบาทอยู่” แหล่งข่าวกล่าว

เศรษฐกิจปี 2020 ไม่มีข่าวดี

ด้านนายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีปัญหาใหญ่กับคำถามว่า “จะเอาเครื่องยนต์อะไรมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต” ปัจจุบันเครื่องยนต์ทั้ง 3 ตัวต่างมีปัญหา ทั้งการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ยอดขายรถยนต์ก็หดตัวลง และการท่องเที่ยวที่แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นแต่การใช้จ่ายต่อหัวกลับหดตัวลงติดต่อกันถึง 5 ไตรมาส ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ว

“ปีหน้าคาดว่าจะโตได้แค่ 2.8% ถ้าจะมีอะไรที่ทำให้ดีขึ้นก็จะมาจากปัจจัยภายนอก ปีหน้าหวังว่าส่งออกจะไม่ติดลบ เพราะปีนี้ส่งออกติดลบ 2.5-3% เพราะมีปัจจัยฐานต่ำมาช่วย รวมถึงการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่บรรลุข้อตกลงได้ระดับหนึ่ง”

รัฐนำลงทุนใช้นโยบายการคลัง

นายพิพัฒน์กล่าวว่า มีเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวเดียวที่สามารถฝากความหวังได้ในปีหน้าคือ การลงทุนของภาครัฐ โดยนโยบายการเงินก็มีข้อจำกัดที่ดอกเบี้ยนโยบายไทยลงมาอยู่ระดับต่ำสุด 1.25% แล้ว ธปท.อาจจะมองว่าทำอะไรเพิ่มไม่ได้มาก หากจะลดดอกเบี้ยมากกว่านี้ก็ไม่แน่ใจว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ ดังนั้นก็ต้องหันไปหานโยบายการคลังที่ปัจจุบันยังเหลือช่องว่างในการดำเนินนโยบายอยู่พอสมควร เพราะหนี้สาธารณะไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานทั่วไป