บล.ภัทร หั่นจีดีพี 63 เหลือโต 2.2% ชี้ไทยเจอ 3 ภาวะช็อกฉุดเศรษฐกิจ

บล.ภัทร หั่นจีดีพีเหลือโต 2.2% จาก 2.8% ชี้ไทยเจอภาวะช็อก 3 เรื่อง ไวรัสโคโรน่า-งบประมาณล่าช้า-ภัยแล้ง ฉุดรั้งเศรษฐกิจไตรมาส 1-2 เชื่อนโยบายการเงินเข้ามามีบทบาทแทนนโยบายคลัง หลังติดขัดด้วยมือตัวเอง เผยเห็น กนง.ปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ช่วยพยุงเศรษฐกิจ

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บริษัท หลักทรัพย์ ภัทร เปิดเผยว่า บล.ภัทร ได้ปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เหลือ 2.2% จากคาดการณ์เดิม 2.8% เป็นผลมาจาก 3 ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ 1.การะบาดของไวรัสโคโรน่าที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการท่องเที่ยว หากมีความรุนแรงขึ้นจนนำไปสู่การห้ามเดินทางออกนอกประเทศของนักเดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์จีนที่มีสัดส่วนประมาณ 50% รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเอง โดยการใช้จ่ายนักท่องเที่ยวในประเทศมีสัดส่วน 12% ของจีดีพี และนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็น 28%

และ 2.ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ที่ความมีล่าช้าไปแล้ว 4 เดือน ทำให้งบประมาณหายไปแล้ว 20% หรือคิดเป็น 2.6 แสนล้านบาท ดังนั้น หากจะล่าช้าออกไปเพียง 2 เดือน ถือเป็นการล่าช้าไปแล้วครึ่งปีงบประมาณ ทำให้เหลือเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณอีกแค่ 6 เดือน ซึ่งกระทบต่อการลงทุนและเศรษฐกิจ เนื่องจากเม็ดเงินไม่ถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบ

และ 3.ภัยแล้งที่หนักสุดในรอบหลายปีของประเทศไทย ซึ่งจะกระทบต่อภาคการเกษตรที่มีสัดส่วนประมาณ 8% ของจีดีพี และอาจจะกระทบต่อแรงงานในภาคเกษตรที่คิดเป็น 1 ใน 3 ของแรงงาน ส่งผลต่อเนื่องไปยังการใช้จ่ายที่ลดลง และหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น

“เปิดต้นปีมาก็เจอช็อก 3 เรื่อง ทำให้ไตรมาสที่ 1 และ 2 เศรษฐกิจมีแรงกดดันค่อนข้างเหนื่อย ซึ่งเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจครึ่งแรก แต่ก็ต้องรอดูว่าปัจจัยการแพร่ระบาดของไวรัสจะไปจบที่ไหน จะกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะหายไปมากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่าเป็นปัจจัยระยะสั้น ทำครึ่งปีหลังน่าจะกลับมาได้”

ดังนั้น ความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยนโยบายการเงินจะเห็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้ง 0.25% และหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น อาจจะเห็นการปรับดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง 0.25% ในช่วงกลางปีนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ดอกเบี้ยนโยบายจะต่ำกว่า 1.25% ขณะที่นโยบายการคลัง แม้ว่าจะมีช่องว่างในการดำเนินนโยบาย แต่ยังพบข้อติดขัด แต่เชื่อว่าในที่สุดจะกลับมาเป็นเครื่องจักรในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

“ความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเศรษฐกิจโตต่ำลงเรื่อยๆ ซึ่งหากไม่ทำจะทำให้การขุดเศรษฐกิจให้เติบโตในอนาคตมีความยากขึ้น โดยตอนนี้นโยบายคลังยังทรงๆ แรงกดดันจะไปลงที่นโยบายการเงินมากขึ้น”