ทำไมคนเราจึงซื้อประกันชีวิต (1)

คอลัมน์ คุยฟุ้ง เรื่องการเงิน
โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) www.actuarialbiz.com

 

 

 

 

เริ่มต้นเกริ่นหัวข้อนี้มาค่อนข้างกังวลว่า ทุกคนคงคิดว่าผมมาเขียนโฆษณาการทำประกันชีวิตอยู่หรือเปล่า แต่เมื่อชั่งใจอยู่สักพัก ผมน่าจะลองเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับความสำคัญ หรือประโยชน์ของการทำประกันชีวิตขึ้นมา ผมเชื่อว่าทุกคนคงจะมีการซื้อของบางอย่างมาโดยที่ยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร หรือใช้อย่างไร แถมบางคนซื้อมาแล้วก็เก็บเข้ากรุไม่ได้ใช้อีกเลย เพราะในความเป็นจริง สินค้าทางการเงินแต่ละชนิดก็มีประโยชน์แตกต่างกัน เพียงแต่คนซื้อนั้นอาจไม่เข้าใจว่ามันมีกลไกและสามารถทำประโยชน์อะไรเมื่อซื้อสินค้าชนิดนั้นไปแล้วต่างหาก

ไหน ๆ แอ็กชัวรีก็เป็นคนออกแบบกระดาษให้เป็นเงิน (หรือในศาสตร์สมัยใหม่ บางทีก็เรียกกันว่า “วิศวกรรมการเงิน”) ก็เลยอยากจะขอหยิบยกเรื่องดี ๆ บนกระดาษที่เราเรียกกันว่า “กรมธรรม์ประกันชีวิต” ขึ้นมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้เข้าใจถึงประโยชน์ของการประกันชีวิต ก่อนที่จะตัดสินใจควักกระเป๋าจ่ายตังค์ซื้อลงไป

จากที่ได้มีโอกาสออกแบบประกันในแถบภูมิภาคเอเชีย ผมขออนุญาตจัดกลุ่มของเหตุผลในการทำประกันชีวิตได้เป็น 6 กลุ่ม ดังต่อไปนี้ครับ

1.เป็นการสร้างนิสัยของการออมที่เหมาะสม

การประกันชีวิตช่วยให้คนเราออมทรัพย์ได้อย่างสม่ำเสมอ เป็นการสร้างลักษณะนิสัยของการออมที่ดี และช่วยให้แต่ละคนสามารถสร้างโครงการออมทรัพย์ของตัวเองขึ้นมา คนซื้อประกันชีวิตหรือผู้ถือกรมธรรม์จะได้รับการแจ้งให้รู้ว่าเมื่อใดถึงกำหนดที่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิต และเมื่อใดที่เขาจะได้เงินคืนในแต่ละช่วงเวลาจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญาของกรมธรรม์ ทุกสิ่งจึงเป็นเรื่องที่สามารถวางแผนล่วงหน้าให้ตายตัวได้ เช่น จำนวนเงินที่ฝาก ระยะเวลาที่จะต้องฝาก จำนวนเงินที่จะมีเหลืออยู่ตลอดเวลาในแต่ละปี

ถ้าหากว่าเรามีการออมเงินอยู่ในบัญชีเงินฝากหลาย ๆ แห่ง และในขณะเดียวกันก็มีกรมธรรม์ประกันชีวิตด้วย จะสังเกตได้ว่าหากเราต้องการใช้เงิน การเลือกที่จะปิดหรือถอนเงินออกมาจากกรมธรรม์ประกันชีวิตควรจะเป็นทางเลือกสุดท้าย เมื่อเทียบกับการถอนเงินจากบัญชีฝากออมทรัพย์

ในปัจจุบัน รูปแบบของแบบประกันชีวิตที่เน้นการออมทรัพย์นั้นได้มีการพัฒนาให้มีความหลากหลายเพื่อเหมาะกับความต้องการของผู้ซื้อมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

1) แบบประกันประเภทชำระเบี้ยครั้งเดียว (single premium) ที่จ่ายเบี้ยเป็นก้อนไปครั้งเดียว แล้วรอเงินคืนตอนครบกำหนดอายุสัญญาในกรณีที่ยังมีชีวิตอยู่

2) แบบประกันที่มีระยะเวลาการชำระเบี้ยสั้นกว่าระยะเวลาความคุ้มครอง (short pay) ที่เห็นกันอยู่ตามท้องตลาด เช่น ชำระเบี้ย 2 ปี คุ้มครอง 10 ปี (2/10) หรือชำระเบี้ย 7 ปี คุ้มครอง 15 ปี (7/15) หรือชำระเบี้ย 15 ปี คุ้มครอง 25 ปี (15/25) เป็นต้น

3) แบบประกันยูนิเวอร์แซลไลฟ์ (universal life) ที่สามารถจ่ายเบี้ยและเลือกความคุ้มครองได้อย่างอิสระ โดยบริษัทจะให้ผลตอบแทนในแต่ละปี (crediting rate) ไม่เท่ากัน เหมือนกับวิธีการประกาศดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคาร

4) แบบประกันควบการลงทุน (unit-linked) ที่สามารถจ่ายเบี้ยและเลือกความคุ้มครองได้อย่างอิสระ และยังสามารถให้ลูกค้าเลือกลงทุนในกองทุนที่ตัวเองต้องการได้อย่างอิสระอีกด้วย

5) แบบประกันบำนาญ (annuity) ที่เป็นการจ่ายเบี้ยก้อนเดียวหรือสะสมไปแล้วรอไปจนถึงอายุที่กำหนดว่าจะได้รับบำนาญ

“การประกันชีวิตเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกค้าสร้างวินัยในการออม”

หนึ่งในเครื่องมือทางการออมที่ดีที่สุดจึงเป็นการทำประกันชีวิตในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาสู่ท้องตลาดดังที่กล่าวไว้ข้างต้น การประกันชีวิตเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกค้าสร้างวินัยในการออม และการออมแบบนี้ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกค้ามีภูมิต้านทานกับความเสี่ยงในการสูญเสียทางการเงิน (financial loss) ที่เป็นอุปสรรคกับการดำรงชีวิตอีกด้วย

การออมจึงไม่ใช่การลงทุน หากแต่เป็นการอด…เพื่อออมไว้สำหรับอนาคต ทำให้หลายคนอาจมองไปว่าการขายประกันชีวิตนั้นไม่ต่างไปกับ “การขายฝัน” สักเท่าไร แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่า ฝันที่กำลังขายอยู่นั้นเป็นทั้งการวางแผนการออมสำหรับฝันที่ดี อีกทั้งยังเป็นการจัดการกับฝันที่ร้าย ซึ่งอาจมาเยือนหาคนในครอบครัวของแต่ละคนได้ทุกเมื่อ

“แล้วคุณล่ะ มีประกันชีวิตเพื่อการออมแล้วหรือยัง”

เหตุผลในการทำประกันชีวิตนั้นมีต่าง ๆ นานา ซึ่งการซื้อประกันชีวิตถือว่าเป็นการสร้างนิสัยของการออมที่เหมาะสม อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการออมที่ดีที่สุด ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าสร้างวินัยในการออมและมีภูมิต้านทานกับความสูญเสียทางการเงิน (financial loss) ไปในตัว