ประกันชงเลื่อน “IFRS17” อีก 3 ปี หวั่นนิยาม “เบี้ย” เพิ่มภาระภาษี

“สมาคมประกันชีวิตไทย” ขอเลื่อนบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS17 อีก 3 ปี จากกำหนดเดิมต้องเริ่ม 1 ม.ค. 2566 หวั่นกระทบบริษัทประกันจ่ายภาษี เร่งถกคณะทำงานวางแผนตั้งรับ พร้อมรอคำตอบจากสภาวิชาชีพบัญชี

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า สมาคมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางบัญชีและการเงิน IFRS17 (สัญญาประกันภัย) ที่จะมีผลกระทบต่อการเสียภาษีของบริษัทประกัน เนื่องจากมาตรฐานบัญชี IFRS17 จะไม่ใช้คำว่าเบี้ย แต่ระบุเฉพาะกำไรจากการรับประกันและรายได้จากการลงทุน ทำให้ในอนาคตจะเกิดปัญหาได้ โดยคณะทำงานประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย และกรมสรรพากร

ขณะเดียวกัน สมาคมได้ทำหนังสือถึงสภาวิชาชีพบัญชี เพื่อขอเลื่อนการบังคับใช้ IFRS17 ออกไปอีก 3 ปี จากเดิมจะเริ่มมีผลวันที่ 1 ม.ค. 2566 แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับคำตอบกลับมา

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ภาคธุรกิจก็ต้องเตรียมพร้อมไว้ โดยสมาคมให้ความสำคัญต่อกระบวนการทำงานในองค์กร ตั้งแต่ระบบการเก็บข้อมูล ระบบไอที และขั้นตอนการทำงาน รวมถึงระบบการคำนวณทางคณิตศาสตร์ประกันภัย เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จะลงบัญชี ซึ่งจะมีผลกระทบกับกำไรของบริษัทประกัน หากสินค้าที่ขายขาดทุน ถูกนับเป็นผลขาดทุนตลอดอายุสัญญาประกันภัย ขณะที่กำไรจะถูกกระจายไปตลอดอายุของสัญญาประกันชีวิต

“ตามกรอบเวลาที่วางไว้ ปีนี้สมาคมจะเข้าร่วมเป็นคณะทำงานกับ คปภ.เพื่อจัดทำคู่มือตีความตาม IFRS17 และศึกษา/รวบรวมผลกระทบ จัดทำความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง IFRS17 รวมถึงจัดอบรมความรู้เบื้องต้น ส่วนปีหน้าจะนำร่างคู่มือการตีความนำเสนอสภาวิชาชีพบัญชี พร้อมกับประเมินผลกระทบของ IFRS17 จากนั้นในปี 2565 เข้าสู่การสรุปผลกระทบทางบัญชีและภาษี และเสนอแนวทางการดำเนินงานช่วงระยะเวลาการทำธุรกรรม และร่วมกับ คปภ.ทดสอบระบบตาม TFRS9 และ IFRS17 ซึ่งจะเป็นปีที่ระบบงานของบริษัทสมาชิก พร้อมดำเนินการตามกำหนดบังคับใช้เดิม และให้เวลาจัดการภาษี ก่อนที่ธุรกิจประกันชีวิตต้องยื่น ภ.ง.ด.50 ปี 2566 ภายใต้ IFRS17” นางนุสรากล่าว

นางนุสรากล่าวอีกว่า สำหรับปี 2563 นี้ คาดเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทั้งระบบจะอยู่ที่ราว 6.1 แสนล้านบาท โดยอาจติดลบ 2% ถึงโตได้ 1% แบ่งเป็นเบี้ยรับปีแรก 1.19 แสนล้านบาท เบี้ยรับจ่ายครั้งเดียว (ซิงเกิลพรีเมี่ยม) 6.6-6.9 หมื่นล้านบาท และเบี้ยปีต่อ 4.2-4.28 แสนล้านบาท หลังจากปี 2562 ที่ผ่านมา ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยรับรวมที่ 6.1แสนล้านบาท หดตัว 2.63%

“ปีนี้เบี้ยคงไม่โต ถ้าไม่หดอีก ก็ดีใจแล้ว เนื่องจากธุรกิจประกันชีวิตคงยังไม่ผ่านจุดต่ำสุด โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงใหม่ ๆ ที่ยังไม่รู้จุดสิ้นสุดอย่างไวรัสโควิด-19 ที่กดดันภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัวลงอีก ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ก็ทำสถิติต่ำสุดต่อเนื่อง” นายกสมาคมประกันชีวิตไทยกล่าว

แหล่งข่าวสภาวิชาชีพบัญชีกล่าวว่า สภาวิชาชีพบัญชีได้รับหนังสือขอเลื่อนบังคับใช้ IFRS17 จากทางสมาคมประกันชีวิตไทยแล้ว แต่ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาผลกระทบในวงกว้าง เพราะจะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงผลกระทบภาพรวมของประเทศด้วย

“กระบวนการต้องเข้าคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี รวมไปถึงคณะกรรมการกำกับดูแลและประกอบวิชาชีพบัญชีที่จะตัดสินใจ ดังนั้น ตอนนี้ก็ยังยึดตามกรอบเริ่มมีผลวันที่ 1 ม.ค. 2566 อยู่” แหล่งข่าวกล่าว