กรมศุลฯ จัดสารพัดมาตรการดูแลผู้รับผลกระทบโควิด ชี้เดือน มี.ค. พบกระทำผิดรวม 233 ล้านบาท

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายให้มีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเชิงนโยบาย โครงการ และประเด็นต่าง ๆ โดยมอบหมายให้คณะโฆษกกรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ และได้กำหนดให้มีการแถลงข่าวประจำทุกเดือน สำหรับประเด็นที่น่าสนใจ ในการแถลงข่าวประจำเดือนเมษายน 2563 ได้แก่

(1) ผลการตรวจพบการกระทำความผิดประจำเดือนมีนาคม 2563

(2) มาตรการของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า

ซึ่งมีรายละเอียดในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

(1) ผลการตรวจพบการกระทำความผิดประจำเดือนมีนาคม 2563

ตามที่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายสำคัญในการเร่งรัดปราบปราม การลักลอบและหลีกเลี่ยงนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดพร้อมหน่วยปฏิบัติการวางแผนตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สินค้าเกษตร น้ำมัน ยาเสพติด IPRs และสินค้าละเมิดอนุสัญญา CITES โดยสืบสวนหาข่าวและออกลาดตระเวนด้วยรถยนต์ ตรวจค้นรถบรรทุก โกดัง บ้านเรือน แหล่งจำหน่าย สถานที่เก็บรักษาที่เชื่อได้ว่ามีของผิดกฎหมายเก็บซุกซ่อนอยู่ อีกทั้งยังมีแผนการป้องกันและปราบปรามสินค้าดังกล่าวในช่วงเวลาซึ่งมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการลักลอบ นอกจากนี้ มีการบูรณการกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทหาร กอ.รมน. ปปส. บช.ปส. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สถานทูตต่างๆ Interpol DEA เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวระหว่างกัน

สำหรับเดือนมีนาคม 2563 กรมศุลกากรตรวจพบการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับศุลกากรได้ทั้งสิ้น 2,059 คดี คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 233 ล้านบาท โดยเป็นคดีลักลอบ คิดเป็นร้อยละ 73.3 ของมูลค่าทั้งหมด ทั้งนี้ สินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ยาเสพติดให้โทษประเภท เอ็กซ์ตาซี่

ผลงานที่น่าสนใจในช่วงเดือนมีนาคม 2563 มีดังนี้

1.ยาเสพติด

1.1 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 กรมศุลกากรได้ตรวจพบพัสดุต้องสงสัย จำนวน 2 หีบห่อ ต้นทางจากต่างประเทศ ผลการตรวจสอบพบเม็ดยาสีฟ้า ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (Ecstasy) จำนวนรวม 19,820 เม็ด น้ำหนักประมาณ 9.8 กก. ซุกซ่อนอยู่ในกล่องสีน้ำตาลปะปนกับถุงขนมขบเคี้ยว จึงประสานชุดปฏิบัติการ AITF (Airport Interdiction Task Force) ประกอบด้วย กรมศุลกากร สำนักงาน ป.ป.ส. กองบัญชาการตำรวจปราบปราม ยาเสพติด และ ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อขยายผลการจับกุม โดยไปตรวจค้นห้องพักพบยาเสพติด (ไอซ์ จำนวน 5.3 กรัม เคตามีน 1.9 กรัม Ecstasy จำนวน 2 เม็ด และEcstasy ลักษณะเป็นผง จำนวน 7.8 กรัม) พร้อมอุปกรณ์การเสพยาเสพติดเพิ่มเติม รวมมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท

1.2 วันที่ 12 มีนาคม 2563 กรมศุลกากรพบพัสดุต้องสงสัย จำนวน 1 หีบห่อ ต้นทางจากต่างประเทศ ผลการตรวจสอบ พบเม็ดยาสีแดง ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (Ecstasy) จำนวน 720 เม็ด น้ำหนักประมาณ 355 กรัม ซุกซ่อนอยู่ในถุงช็อกโกแลต จึงประสานชุดปฏิบัติการ AITF ประกอบด้วย
กรมศุลกากร สำนักงาน ป.ป.ส. กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อขยายผลต่อไป ทั้งนี้ ของกลางที่ตรวจพบมีมูลค่าประมาณ 3.6 แสนบาท

1.3 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 กรมศุลกากรพบพัสดุต้องสงสัย จำนวน 1 หีบห่อ ต้นทางจากต่างประเทศ ผลการตรวจสอบพบเม็ดยาสีเขียวและสีฟ้า ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (Ecstasy) จำนวน 30,465 เม็ด น้ำหนักประมาณ 11 กิโลกรัม ซุกซ่อนปะปนกับถุงขนมจึงประสานชุดปฏิบัติการ AITF ประกอบด้วย กรมศุลกากร สำนักงาน ป.ป.ส. กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อขยายผลต่อไป ทั้งนี้ ของกลางที่ตรวจพบมีมูลค่าประมาณ 15.2 ล้านบาท

2. เนื้อกระบือแช่แข็ง

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563 กรมศุลกากรได้ทำการตรวจค้นรถยนต์บรรทุกหกล้อ บริเวณถนนชยางกูร ตำบลนิคมคำสร้อย อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร ผลการตรวจค้นพบเนื้อกระบือแช่แข็งบรรจุกล่องกระดาษ ระบุเมืองกำเนิดต่างประเทศ กระสอบละ 23 กิโลกรัม จำนวน 340 กระสอบ น้ำหนักรวม 7,820 กิโลกรัม โดยไม่พบเอกสารหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง รวมมูลค่าประมาณ 1.1 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นความผิดตามมาตรา 242 มาตรา 246 มาตรา 252 แห่งพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ประกอบมาตรา 166 และ มาตรา 167 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 จึงได้ทำการยึดสินค้าเนื้อกระบือแช่แข็งจำนวนดังกล่าว พร้อมยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิด นำส่งด่านศุลกากรมุกดาหารเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไปและในวันที่ 16 มีนาคม 2563 ได้ทำลายโดยวิธีการฝังกลบเนื้อกระบือแช่แข็งดังกล่าวจนเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ณ บริเวณด่านกักกันสัตว์ จังหวัดมุกดาหาร

3. สินค้าเกษตร

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 กรมศุลกากรได้ทำการตรวจค้นรถยนต์บรรทุก บริเวณตำบลคำป่าหลาย อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ผลการตรวจค้นพบข้าวสารเหนียวบรรจุกระสอบ ระบุเมืองกำเนิดต่างประเทศ กระสอบละ 50 กิโลกรัม จำนวน 370 กระสอบ น้ำหนักรวม 18,500 กิโลกรัม โดยไม่พบเอกสารหลักฐานการผ่านพิธีการทางศุลกากรโดยถูกต้อง อันเป็นความผิดตามมาตรา 242 มาตรา 246 มาตรา 252 แห่งพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 จึงได้ทำการยึดข้าวสารเหนียวจำนวนดังกล่าว พร้อมยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิด นำส่งด่านศุลกากรมุกดาหารเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป รวมมูลค่าประมาณ 6.6 แสนบาท

(2) มาตรการของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

2.1 การยกเว้นอากรสำหรับสินค้าหน้ากากและวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตสินค้าตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร ตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 3) ซึ่งประกาศ ณวันที่ 19 มีนาคม 2563 ในการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัดตามประเภทย่อย 6307.90.40 และหน้ากากอนามัยเฉพาะหน้ากากกรองฝุ่น หมอกควัน หรือสารพิษบรรดาที่เป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยตามประเภทย่อย 6307.90.90 อีกทั้ง ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของใด ๆ ที่นำเข้ามาเพื่อผลิตหน้ากากอนามัยตามประเภทพิกัดดังกล่าวด้วย โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 และให้สิ้นผลใช้บังคับวันที่ 20 กันยายน 2563 ทั้งนี้ การลดอัตราอากรและการยกเว้นอากรต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามประกาศกรมศุลกากรที่ 61/2563 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2563 เช่น วัตถุดิบที่ต้องนำไปใช้ผลิตหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัดและหน้ากากกรองฝุ่นฯ ต้องนำไปผลิตภายใน 1 ปี

นับจากการนำเข้า หากไม่สามารถหรือมิได้นำไปใช้ผลิตภายใน 1 ปี นับวันนำของเข้า ต้องเสียอากรตามปกติหรือต้องส่งออกนอกราชอาณาจักร หากจำเป็นต้องใช้ให้ขออนุมัติขยายเวลาจากกรมศุลกากร

2.2 การยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID – 19) ตามรายการที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงการรักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคได้มากขึ้น ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้าเพื่อใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 10 เมษายน 2563 โดยมี
ผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563

2.3 การอำนวยความสะดวกในการผ่านพิธีการศุลกากรสำหรับการยกเว้นอากรของบริจาค ตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภท 11 โดยกรมศุลกากรได้มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการ สำนักงานศุลกากร นายด่านหรือผู้อำนวยการส่วนที่ได้รับมอบหมายในสังกัด ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีในการอนุมัติให้ยกเว้นอากรสำหรับการนำเข้าหน้ากากอนามัย ของที่ใช้เกี่ยวกับการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งของอื่นๆ ที่นำเข้ามาบริจาค ภายใต้กฎหมายนี้ เพื่อให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563

2.4 การอำนวยความสะดวกในการแสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) สำหรับผู้นำเข้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID – 19)
ซึ่งผู้นำเข้าสามารถแสดงสำเนาภาพถ่ายหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) ประกอบการปฏิบัติพิธีการศุลกากรเพื่อยกเว้นและลดอัตราอากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน โดยได้ออกประกาศกรมศุลกากร
ที่ 47/2563 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2563

2.5 การตรวจปล่อยสินค้าและการส่งมอบของกลางที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ด้วยการเพิ่มความระมัดระวัง เข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้า – ส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับสถานการณ์แพร่ระบาด COVID – 19 และหากมีการตรวจพบการกระทำความผิดและคดีถึงที่สุดแล้ว กรมศุลกากรจะส่งมอบให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID – 19) ต่อไป ซึ่งกรมศุลกากรได้มีการส่งมอบของกลางที่เกี่ยวข้องให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) อย่างต่อเนื่อง

2.6 การเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) โดยผ่อนผันให้ขยายเวลาการนำเข้ามาเป็นชั่วคราวโดยใช้สิทธิ์ยกเว้นอากร ตามประเภท 3 ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 และได้ทำสัญญาประกันไว้ต่อกรมศุลกากร ว่าจะส่งกลับออกไปภายในกำหนด 6 เดือน ปกติจะไม่อนุญาตให้กระทำได้ ซึ่งกรมศุลกากรเห็นว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นเหตุสุดวิสัยหรือความจำเป็นที่อยู่นอกเหนือการคาดหมายของผู้นำเข้า จึงเห็นควรให้ผ่อนผันการขยายกำหนดเวลาออกไปได้ และผ่อนผันให้ขยายเวลาในการเก็บของกรณีผู้ประกอบการคลังสินค้าทัณฑ์บน เขตปลอดอากรและเขตประกอบการเสรีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID – 19) ซึ่งสถานการณ์นี้ ถือเป็นเหตุจำเป็นหรือเหตุผล
อันควรให้ขยายระยะเวลาการเก็บของในสถานที่ดังกล่าวได้ โดยเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2563

2.7 โครงการ CUSTOMS ALLIANCES COVID-19 เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) กรมศุลกากรได้จัดเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละพื้นที่ หรือ ผู้ประสานงานตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้การดูแลของกรมศุลกากร เพื่อเตรียมพร้อมตอบข้อซักถาม ประสานงาน แก้ไขปัญหาในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ทั้งนี้ หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเผยแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในส่วนของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานศุลกากรในพื้นที่ หรือ สายด่วนกรมศุลกากร 1164 หรือศูนย์บริการศุลกากร (Customs Care Center) โทรศัพท์ 02-667-6000, 02-667-7000 ต่อ 20-5844-8 หรือ website: ccc.customs.go.th