คลังแบะท่าอุ้มธุรกิจสายการบิน รับข้อเสนอหนุนซอฟต์โลน

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีที่สายการบินส่งหนังสือถึงนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่องมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงินราว 2.5 หมื่นล้านบาท จากงบประมาณของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น กระทรวงการคลังได้รับข้อเสนอแล้ว แต่หากขอใช้เงินใน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ก็ต้องไปดูในรายละเอียดว่าวงเงินดังกล่าวระบุว่าสามารถใช้ในการใดบ้าง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือวงเงิน 6 แสนล้านบาท ใช้ในด้านสาธารณสุขและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และวงเงิน 4 แสนล้านบาท ใช้ในด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

ส่วนมาตรการซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 5 แสนล้านบาท ก็ต้องไปดูในรายละเอียดว่าสายการบินมีสินเชื่อคงค้างเดิมเกิน 500 ล้านบาทหรือไม่ หากเกินก็ไม่สามารถขอใช้ได้ตามกลไกการปล่อยซอฟต์โลนของ ธปท. อย่างไรก็ดี เชื่อว่ารัฐบาลมีนโยบายดูแล โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการจ้างงานเป็นจำนวนมาก เพราะว่ายังมีงบประมาณอีกหลายส่วน ซึ่งจะต้องเข้าไปดูในรายละเอียดอีกครั้ง

ขณะที่ซอฟต์โลนวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ที่รัฐให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ในอัตรา 0.01% ต่อปี เพื่อให้ธนาคารต่างๆ นำไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการในอัตรา 2% ต่อปี ระยะเวลา 2 ปีนั้น ขณะนี้ธนาคารออมสินปล่อยไปแล้วกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท หากรวมกับวงเงิน 8 หมื่นล้านบาท ที่กันไว้ให้กับผู้ให้บริการทางการเงินแต่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (non bank) ซึ่งรวมถึงลีสซิ่ง สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต ฯลฯ จึงทำให้ซอฟต์โลนก้อนดังกล่าวไม่พอช่วยเหลือสายการบิน ฉะนั้น จะพิจารณาช่วยเหลือสายการบินอย่างไรนั้น จะต้องรอนโยบายจาก รมว.คลัง ว่าจะมีมาตรการดูแลสายการบินหรือไม่อย่างไร