ดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ ตลาดจับตาโควิดระลอก 2

เงินดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Marcos Brindicci/File Photo

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 22-26 มิถุนายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (22/6) ที่ระดับ 31.02/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (19/6) ที่ระดับ 31.00/01 บาท/ดอลาร์สหรัฐ โดยนายเอริค โรเซนเกรน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาบอสตัน เปิดเผยว่า อัตราการว่างงานในสหรัฐ จะยังคงอยู่ที่ระดับสูงกว่า 10% ภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ความพยายามในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ จนถึงตอนนี้นั้นยังไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งสหรัฐยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าประเทศอื่น ๆ

ซึ่งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่าการจ้างงานได้ลดลงเกือบ 20 ล้านตำแหน่ง นอกจากนี้อัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุด ที่ระดับ 14.7% ในเดือนเมษายนและชะลอลงสู่ 13.3% ในเดือนพฤษภาคม ยังคงเป็นอัตราการว่างงานในระดับที่สูงมาก

นอกจากนี้นายนีล แคชคารี ประธานเฟดสาขามินนิอาโปลิสกล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจากวิกฤตที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะดำเนินไปช้ากว่าที่ผู้กำหนดนโยบายคาดไว้ โดยอาจจะรวมถึงการเกิดการติดเชื้อระลอกสองในฤดูใบไม้ร่วง และอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดยังคงติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างสหรัฐ และจีนอย่างใกล้ชิด หลังประธานาธิบดีสหรัฐนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการใช้มาตรการคว่ำบาตรจีน กรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนอุยกูร์ชั่วคราว เนื่องจากกังวลว่ามาตรการดังกล่าวจะเข้ามาแทรกแซงการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน

อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังนายปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าประจำทำเนียบขาว ได้ออกแถลงการณ์เพื่อชี้แจงว่า ข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนยังไม่ยุติ ขณะที่ระหว่างสัปดาห์กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก พร้อมกับเตือนว่าสถานะทางการคลังของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะทรุดตัวลงอย่างหนัก จากผลกระทบที่รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 4.9% ในปีนี้ ซึ่งย่ำแย่กว่าที่คาดการณ์ก่อนหน้าในเดือนเมษายนว่าจะหดตัวง 3%

ยิ่งไปกว่านั้น IMF ยังได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าสู่ระดับ 5.4% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ในเดือนเมษายนว่าจะขยายตัว 5.8%

ขณะที่ความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เพิ่มสูงขึ้น หลังจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ในสหรัฐได้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ โดยวันพฤหัสบดี (25/6) มีการรายงานผู้ติดเชื้อจำนวน 45,557 ราย สำหรับข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผย สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองลดลง 9.7% สู่ระดับ 3.91 ล้านยูนิตในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงเดือนที่สามติดต่อกัน อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 3%

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่ายอดขายบ้านใหม่ปรับตัวขึ้น 16.6% ในเดือนพฤษภาคมดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 2.9% บ่งชี้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐเริ่มฟื้นตัว หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ขณะที่ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผิต และภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวสูงระดับ 46.8 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 37.0 ในเดือนก่อนหน้า สำหรับตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้ายสำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2563 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลง 5% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 หลังจากที่ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ระบุว่าหดตัวลง 4.8% โดยได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล ซึ่งทำให้มีการปิดเศรษฐกิจ

สำหรับปัจจัยในประเทศคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ลงเหลือ -8.1% จากเดิมคาด -5.3% โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีสัญญาณปรับดีขึ้น หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด พร้อมกันนี้ได้ปรับลดคาดการณ์การส่งออกไทยในปีนี้ลงเหลือ -10.3% จากเดิมคาด -8.8%

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ คาดว่าจะหดตัวอยู่ที่ -1.7% จากเดิมคาด -.0% โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2554 ขณะที่ IMF ได้มีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของไทยในปี 2563 ลงเป็นหดตัว 7.7% ซึ่งต่ำสุดในภูมิภาค ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.79-31.07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (29/5) ที่ระดับ 30.90/91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดในวันจันทร์ (22/6) ที่ระดับ 1.1182/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/6) ที่ระดับ 1.1214/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรได้รับแรงกดดันหลังการประชุมสุดยอดผู้นำของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นการประชุมที่มีจุดประสงค์เพื่อลดความขัดแย้งเรื่องกองทุนฟื้นฟูขนาด 7.50 แสนล้านยูโรยังไม่สามารถเจรจากันได้ลงตัว

โดยนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้กล่าวต่อผู้นำสหภาพยุโรปว่า เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปกำลังตกต่ำลงอย่างรุนแรง และเธอเรียกร้องให้ดำเนินมาตรการฟื้นฟูตามมาตรการช่วยเหลือของกองทุนที่ได้ร่างไว้ ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแบบให้เปล่ากับประเทศสมาชิก มากกว่าจะเป็นการช่วยเหลือด้วยการปล่อยเงินกู้ แต่ประเทศสวีเดน, เดนมาร์ก, ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์ ยังไม่เห็นด้วยกับนโยบายของกองทุนดังกล่าว โดยผู้นำประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปจะมีการจัดการประชุมขึ้นอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมเพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณระยะยาวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และหาทางออกร่วมกันเรื่องกองทุนช่วยเหลือของสหภาพยุโรป

ค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนจากการที่ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นเดือนมิถุนายนของสหภาพยุโรป ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 47.5 จากระดับ 31.9 ในเดือนพฤษภาคม และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 42.4 อย่างไรก็ดีระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงแม้ว่าสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 86.2 ในเดือนมิถุนายน จากระดับ 79.7 ในเดือนพฤษภาคม แต่ปัญหาเรื่องการค้าระหว่างสหรัฐ และสหภาพยุโรปเริ่มกลับมาเป็นประเด็นสนใจอีกครั้ง หลังสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เปิดเผยว่า สหรัฐกำลังพิจารณาเรียกเก็บภาษีนำเข้ามูลค่า 3.1 พันล้านดอลลาร์จากสินค้าหลายประเภทของประเทศยุโรป โดยเป็นผลจากความขัดแย้งเรื่องเครื่องบินกับประเทศคู่ค้า

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1167-1.1348 ดอลลาร์สหรั/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (26/6) ที่ระดับ 1.1222/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดวันจันทร์ (22/8) เปิดตลาดที่ระดับ 106.78/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/6) ที่ระดับ 106.93/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนและทองคำมีแรงเข้าซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยหลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกตลอดสัปดาห์

ประกอบกับความไม่แน่นอนเรื่องความขัดแย้งที่ชายแดนระหว่างประเทศจีนและประเทศอินเดีย รวมถึงปัญหาระหว่างประเทศเกาหลีเหนือและประเทศเกาหลีใต้ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.06-107.45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (26/6) ที่ระดับ 106.88/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ