ก.ล.ต. ยืนยันตั้ง “กองทุนไฮยีลด์บอนด์” ปีนี้ ชี้หลาย บลจ. สนใจ

ก.ล.ต. ยืนยันหลาย บลจ. สนใจตั้งกองทุนไฮยีลด์บอนด์ มั่นใจภายในปีนี้ได้เห็น ระบุชงมาตรการทางภาษีจูงใจลงทุนไปแล้วขึ้นกับคลังพิจารณา ลั่นแม้สุดท้ายไม่ได้มาตรการภาษีก็ยังเดินหน้าผลักดันตั้งกองทุนตามแผน ฟาก “กองทุนบัวหลวง” ชี้ตลาดหุ้นกู้เสี่ยงสูงของไทยสภาพคล่องต่ำ-กระจุกตัวเซ็กเตอร์อสังหาฯ หวั่นตลาดรองรับความผันผวนไม่ได้

นางสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลัง ก.ล.ต.ประกาศเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารที่ต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ หรือ high yield bond ไป เบื้องต้นพบว่ามีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หลายรายที่แสดงความสนใจเข้ามา โดยเฉพาะ บลจ.ที่อยู่ในเครือของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่มีประสบการณ์ในการบริหารกองทุนประเภทดังกล่าว

ส่วน บลจ.ที่ไม่สนใจจัดตั้งกองทุนประเภทนี้ เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ลงทุน รวมถึงยังต้องการเน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่อยู่ระดับการลงทุนปกติ (investment grade bond) ซึ่งส่วนใหญ่เป็น บลจ.ที่อยู่ในเครือของธนาคารพาณิชย์

“เราเข้าใจข้อกังวลของ บลจ.บางแห่งทั้งเรื่องของสภาพคล่องและการกระจุกตัวของหุ้นกู้เสี่ยงสูงในไทย อย่างไรก็ดี การจัดตั้งเป็นกองทุนในลักษณะนี้ที่กำหนดให้มีสัดส่วนลงทุนหุ้นกู้เสี่ยงสูงในกองทุนละ 4 บริษัท หรือบริษัทละ 25% ก็ช่วยลดความเสี่ยงให้นักลงทุน หากเกิดกรณีผิดนัดชำระหนี้ จากเดิมนักลงทุนที่ลงทุนตรงอาจเจ็บหนัก แต่หากลงทุนผ่านกองทุนดังกล่าวก็จะช่วยลดความเสี่ยงให้น้อยลง” นางสาวจอมขวัญกล่าว

ทั้งนี้ จากการหารือกับ บลจ.ที่สนใจ คาดว่าจะเห็นการจัดตั้งกองทุนแล้วเสร็จภายในปี 2563 นี้ แต่อาจไม่ได้มีปริมาณการออกกองทุนประเภทดังกล่าวสูงเท่ากองทุนประเภทอื่น เนื่องจากเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเฉพาะตัว แตกต่างจากตราสารหนี้ทั่วไป

ส่วนความคืบหน้าเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะได้รับจากการลงทุนนั้น นางสาวจอมขวัญกล่าวว่า ก.ล.ต.ได้ส่งข้อเสนอสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุนในกองทุนหุ้นกู้เสี่ยงสูงไปให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว อย่างไรก็ดี ไม่ว่าทางการจะพิจารณาให้สิทธิลดหย่อนทางภาษีหรือไม่ สำนักงาน ก.ล.ต.จะยังมุ่งหน้าจัดตั้งกองทุนตามแผนงานเดิมที่วางเอาไว้

นายพีรพงษ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง (BBLAM) กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพคล่องของการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงในประเทศยังค่อนข้างต่ำ รวมถึงมีผู้ออกอยู่ไม่กี่ราย ซึ่งส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเซ็กเตอร์อสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งจากกรณีความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดตราสารหนี้เมื่อช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา สะท้อนว่าตลาดรองที่ใช้ในการซื้อขายเปลี่ยนมือตราสารหนี้ของไทยไม่สามารถรองรับความผันผวนได้

“อย่างในต่างประเทศ เนื่องจากกองทุนหุ้นกู้เสี่ยงสูงกองหนึ่งลงทุนในหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงหลายตัว และแต่ละตัวก็กระจายกันหลายเซ็กเตอร์ สมมุติหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ไปตัวหนึ่ง ก็อาจกระทบผลตอบแทนของกองทุนแค่ 1% แต่ในไทย เนื่องจากผู้เล่นน้อย สภาพคล่องต่ำ หากผิดนัดชำระหนี้ไปตัวหนึ่งก็กระทบผลตอบแทนกองทุน 5-15% แล้ว หายไปขนาดนั้น สำหรับกองทุนตราสารหนี้ก็ไม่เหลืออะไรแล้ว” นายพีรพงษ์กล่าว