คมนาคม ส่งไม้ต่อ “คลัง” สอบทุจริตการบินไทย

การบินไทย
Photo by Mladen ANTONOV / AFP

กระทรวงคมนาคม ได้เดินทางมามอบเอกสาร 18 แฟ้ม ให้กระทรวงการคลัง ในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จำนวน 49% เพื่อรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง

วันที่ 1 ก.ย. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะทำงานชุดย่อยเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงฝ่ายช่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่กำกับดูแลโดยกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางมามอบเอกสาร 18 แฟ้ม ให้กับกระทรวงการคลัง ในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จำนวน 49% เพื่อรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นสาเหตุให้การบินไทยประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากคณะทำงานชุดดังกล่าวหมดอำนาจในการตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังจากที่การบินไทยแปลงสภาพจากรัฐวิสาหกิจ เป็นบริษัท มหาชน

นายคมกฤช วงศ์สมบุญ หัวหน้าคณะทำงานชุดย่อยเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงฝ่ายช่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เนื่องจาก นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม กำกับดูแลการบินไทย ตรวจสอบพบการขาดทุนต่อเนื่องสะสมเป็นเวลาหลายปี จึงได้มีการตั้งคณะทำงานชุดใหญ่ และคณะทำงานชุดย่อย ประกอบด้วย ฝ่ายการพาณิชย์ การบัญชี ฝ่ายช่าง ฝ่ายบริหารกิจการ ฝ่ายตั๋วการบินไทย คลังสินค้า และฝ่ายไปรษณีย์ไทย เพื่อตรวจสอบปัญหาการขาดทุนที่ฝ่ายมา โดยมีผลขาดทุนกว่า 3.5 แสนล้านบาท

คมกฤช วงศ์สมบุญ
คมกฤช วงศ์สมบุญ

หลังจากที่การบินไทยแปลงสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นบริษัทมหาชน รมช.คมนาคม จึงหมดหน้าที่ในการกำกับดูแล จึงได้ส่งต่อเอกสารที่ตรวจสอบในระยะเวลา 43 วัน ทั้งภายนอกและภายในของการบินไทย ให้กับกระทรวงการคลัง นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการป้องกันและปราบกรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยหลักการ ป.ป.ช. จะเป็นผู้ตรวจสอบการทุจริต แต่ในฐานะกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 49% จะเป็นผู้ดำเนินการขั้นตอนแรก

ส่วนข้อสังเกตการทุจริตที่ตรวจสอบพบ มีในเรื่องการจำหน่ายตั๋ว ที่ขายต่ำกว่าราคาปกติ ทำให้เกิดภาวะขาดทุนมหาศาลเกี่ยวกับรายได้ เนื่องจากเป็นการขายแบบแฟลชเซลล์ จัดโปรโมชั่นราคาถูก เพื่อให้ที่นั่งเต็ม แต่กลับมีผลต่อเรื่องจุดคุ้มทุน และในเรื่องฝ่ายช่างมีปัญหาการเบิกโอที แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เฉพาะบางคน ราว 450 คน ซึ่งปกติโอทีไม่ควรเกิน 1,500 ชั่วโมงต่อปี ตามกฎหมายแรงงาน แต่บางคนเบิกโอทีกว่า 2,000-3,000 ชั่วโมง

“การประเมินความเสียหายแบ่งเป็นหลายส่วน ทั้งความเสียหายจากการซื้อเครื่องบินที่ผ่านมา มูลค่าสะสมราว 1 แสนล้านบาท เรื่องความเสียหายตอนซื้อ ค่าบำรุงรักษา และมูลค่าที่ด้อยลงในปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้ยังจอดทิ้งที่อู่ตะเภา 9 ลำ ขณะที่ฝ่ายช่างเน้นหนักไปที่โอที มูลค่าความเสียหายเฉพาะปีที่ผ่านมา ประมาณ 500-600 ล้านบาท ส่วนเรื่องตั๋วมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งหากมีการสอบย้อนหลังก็มีมูลค่าจำนวนมาก”

ทั้งนี้ เมื่อสถานะการบินไทยแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนแล้ว หากตรวจสอบพบการทุจริต การบินไทย หรือกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ จะต้องมีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) โดยเอกสารที่คณะทำงานตรวจสอบพบเป็นข้อเท็จจริง ยืนยันได้ สามารถเอาผิดได้ชัดเจน แต่ขณะนี้ไม่มีอำนาจ หรือกฎหมายคุ้มครองจึงไม่สามารถเปิดเผยได้