‘LINE BK’ VS ‘เงินทันเด้อ’ 2 แบงก์ใหญ่ ชิงตลาดสินเชื่อดิจิทัล

LINE BK

“โควิด-19” เป็นตัวเร่งสำคัญทำให้พฤติกรรมของผู้คนปรับเปลี่ยนไป โดยหันไปใช้บริการต่าง ๆ บนช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะบริการทางด้านการเงิน ซึ่งบรรดาสถาบันการเงินเองก็พยายามเร่งปรับการให้บริการเพื่อให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนมากขึ้น จากเดิมที่แบงก์ต้องการปรับตัวสู้กับพายุดิสรัปชั่นอยู่แล้ว ก็ต้องติดสปีดไปสู่ดิจิทัลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อดิจิทัล (digital lending)

ซึ่งช่วงปี 2563 นี้ ก็จะเห็นภาพของแบงก์ใหญ่ อย่างธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่พยายามรุกสู่ “สินเชื่อดิจิทัล” กันมากขึ้น โดยธนาคารกสิกรไทยร่วมทุนกับ “ไลน์ ไฟแนนเชียล เอเชีย” (LINE) ผ่าน “บริษัท กสิกร วิชั่น” (เควิชั่น) ซึ่งได้เปิดตัว “LINE BK” เป็น “โซเชียลแบงก์” (social banking) แห่งแรกของเมืองไทยเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา โดยให้บริการ “แชต โอน ยืม จ่าย” ทำได้เสร็จครบจบใน LINE ตามคอนเซ็ปต์ “เรื่องเงินง่ายใน LINE คุณ” ชูจุดเด่นเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ยืมที่ง่ายและสะดวกมากขึ้น ฉีกกรอบการกู้ยืมเงินในรูปแบบเดิม ซึ่งผู้กู้ที่มีเงินเดือน 7,000 บาทขึ้นไปก็กู้ได้ ซึ่งบริการดังกล่าวสามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการที่อยู่บนแพล9ฟอร์ม “LINE” กว่า 47 ล้านคนเลยทีเดียว

ล่าสุด “ธนา โพธิกำจร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ เปิดเผยว่า LINE BK ได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยมเกินความคาดหมาย โดยในเวลาเพียง 2 เดือนสามารถพิชิตเป้าหมายแรก คือ การมีจำนวนผู้ใช้บริการกว่า 1 ล้านราย ขณะที่ยอดการทำธุรกรรมทางการเงินทะลุ 6,000 ล้านบาท และจากจำนวนลูกค้าดังกล่าวมีลูกค้าที่ยื่นขอวงเงินให้ยืมมากกว่า 20,000 รายต่อวัน

“จากตัวเลขพบว่า 30% ของผู้ที่ได้รับอนุมัติวงเงินให้ยืมเป็นผู้ที่ไม่เคยมีสินเชื่อกับที่อื่นมาก่อน สอดคล้องกับเป้าหมายบริษัทที่อยากให้ LINE BK เป็นบริการทางการเงินที่ทุกคนเข้าถึงได้ ปลดล็อกข้อจำกัดให้ผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำและไม่มีสลิปเงินเดือน” นายธนากล่าว

“พัชร สมะลาภา” กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า ยอดการขอสินเชื่อ LINE BK เติบโตแบบก้าวกระโดด อย่างไรก็ดี ยอดอนุมัติสินเชื่อ (approval rate) อยู่ที่ราว 10% ของสินเชื่อทั้งหมด ส่วนหนึ่งมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้า ยังอาจจะต้องใช้เวลากว่าจะอนุมัติ แต่ในระยะข้างหน้าเมื่อการวิเคราะห์พฤติกรรมทำได้แม่นยำขึ้น ยอดอนุมัติสินเชื่อจะเพิ่มเป็น 50% ได้

“LINE BK ออกมาเพื่อลด pain point ปัญหาของลูกค้ารายย่อยและกลุ่มพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ ซึ่ง LINE BK จะแตกต่างจากการปล่อยกู้ทั่วไป โดยจะดูพฤติกรรมผ่านโซเชียลและข้อมูลอื่น ๆ ดังนั้น ช่วงเริ่มต้นอาจจะใช้เวลา ประกอบกับลูกค้าที่เข้ามาจำนวนมาก เพราะคิดว่าไปแบงก์อาจจะกู้ไม่ผ่าน จึงหันมาขอสินเชื่อผ่าน LINE BK จำนวนมาก” นายพัชรกล่าว

ส่วนการปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันผ่านออนไลน์ในส่วนของธนาคารกสิรกรไทยเอง “พัชร” บอกว่า ปัจจุบันมียอดสินเชื่อรวมอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท เติบโต 26% จากปีก่อนอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อผ่านดิจิทัล 100% อยู่ที่ประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40% และอีก 60% ยังปล่อยผ่านช่องทางที่ยังต้องใช้เอกสารและเจ้าหน้าที่ในการประเมินอยู่ แต่คาดว่าภายในสิ้นปีนี้สัดส่วนการปล่อยสินเชื่อดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ฟากธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ออกสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยผ่านแอปพลิเคชั่น “เงินทันเด้อ” (Money Thunder) ภายใต้การดำเนินงานของ “บริษัท เอสซีบี อบาคัส” (SCB Abacus) ที่เป็นบริษัทย่อย ซึ่งสินเชื่อดังกล่าวเป็นแหล่งเงินทุนตั้งต้นสำหรับคนที่ต้องการตั้งตัว โดยดึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) กับการวิเคราะห์ข้อมูลทางเลือก (alternative data) มาใช้ประมวลผลและอนุมัติสินเชื่อ

ทำให้ผู้กู้สามารถรู้ผลภายใน 15 นาที เร็วที่สุดในวงการสินเชื่อดิจิทัลของไทย ทำสัญญาและรับเงินใน 24 ชั่วโมง กำหนดวงเงินปล่อยสินเชื่อไว้ตั้งแต่ 3,000-50,000 บาทต่อราย ระยะเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 12 เดือนไม่ต้องมีคนค้ำประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.75% ต่อเดือน และไม่มีค่าธรรมเนียมการขอสินเชื่อแต่อย่างใด

“ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท เอสซีบี อบาคัส กล่าวว่า “เงินทันเด้อ” เป็นบริการสินเชื่อดิจิทัลเต็มรูปแบบรายแรกในไทยที่ใช้ข้อมูลทางเลือกในการพิจารณาสินเชื่อ โดยสามารถให้บริการกลุ่มเป้าหมายองค์กรขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการแบบปกติได้ดียิ่งขึ้น

“หลายคนถูกปฏิเสธเงินกู้จากธนาคารเพราะทำงานอิสระหรือทำธุรกิจส่วนตัว ไม่มีสลิปเงินเดือนหรือหลักฐานการเงินที่ธนาคารต้องการ แต่คนกลุ่มนี้มีรายได้และความสามารถในการจ่ายเงิน จึงมาตอบโจทย์ให้คนกลุ่มนี้ให้เข้าถึงการเงินได้ เพราะปกติผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ต้องการสินเชื่อธนาคารต้องดำเนินธุรกิจมา 3-4 ปี เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์เครดิต แต่เราจะนำข้อมูลทางเลือกที่มาจากคู่ค้าด้านการขนส่ง การค้าปลีก โทรคมนาคม และอื่น ๆ มาพิจารณา” ดร.สุทธาภากล่าว

ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันฐานลูกค้าดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “เงินทันเด้อ” แล้วมากกว่า 2 ล้านดาวน์โหลด ล่าสุดจับมือกับลาซาด้าในช่วงแคมเปญ 12.12 ที่ผ่านมา พบว่ามีลูกค้าของลาซาด้าที่มีสิทธิ์ผ่านเกณฑ์การพิจาณาสินเชื่อตั้งหลัก อยู่ที่กว่า 1 แสนราย

ปีนี้แบงก์ชิมลางปล่อยกู้ดิจิทัลท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ส่วนปีหน้า (ปี 2564) แม้ว่าเศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัวมากนัก แต่ความต้องการเข้าถึงแหล่งเงินของประชาชนยังมีอีกมากแน่นอน ซึ่งทุกแบงก์ก็คงโฟกัสช่องทางใหม่นี้กันมากขึ้นต่อเนื่อง