เอสเอ็มอี 1.5หมื่นล้าน ขอพักหนี้ยาวถึงกลางปี’64

กองทุนเอสเอ็มอี

แบงก์ชาติเผยลูกหนี้ที่เจอผลกระทบโควิดรอบแรกเริ่มฟื้นเข้ารับการช่วยเหลือลดลงกว่า 1.2 ล้านล้านบาท หลังจากเดิมเคยเข้าร่วมมาตรการมากกว่า 7.2 ล้านล้านบาท เผยยังมีเอสเอ็มอีราว 5% ขอพักหนี้ต่อยาวถึงกลางปี 2564 ธปท.กำชับสถาบันการเงินเกาะติดช่วยเหลือลูกหนี้เจอผลกระทบโควิดรอบใหม่

นางวิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เบื้องต้น ธปท.ได้มีการพูดคุยกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และได้มีการตั้งคณะกรรมการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมมาตรการรับมือ โดยธนาคารจะต้องเร่งปฏิบัติตามเงื่อนไขของกรมควบคุมโรค และเร่งติดต่อลูกหนี้

“แม้ว่าสาขาธนาคารจะเปิดไม่ได้ตามปกติ แต่ปัจจุบันธนาคารก็ไปปรับปรุงช่องทางติดต่อลูกค้าผ่านโมบายแบงกิ้ง เพื่อดูว่าลูกหนี้ได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน และต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมแบบใด” นางวิเรขากล่าว

นางวิเรขากล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 นับตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงล่าสุด ณ เดือน ต.ค. 2563 พบว่า ภาพรวมลูกหนี้ที่ขอรับการช่วยเหลือทยอยลดลงเหลือ 6 ล้านล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ 55% และลูกหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจอีก 45% ลดลงกว่า 1.2 ล้านล้านบาท จากในเดือน ก.ค. ที่มีลูกหนี้เข้าโครงการค่อนข้างสูงอยู่ที่ 7.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ 59% และลูกหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจอีก 41%

“การขอรับความช่วยเหลือลดลง ชี้ว่าลูกหนี้เริ่มฟื้น โดยในสัดส่วนลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ 55% คิดเป็นมูลหนี้ทั้งสิ้น 3.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้ธุรกิจ 63% และลูกหนี้รายย่อย 37% ซึ่งพบว่า ลูกหนี้กลับมาชำระได้ตามปกติราว 66% และกลุ่มที่ยังต้องปรับโครงสร้างหนี้ 34% โดยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม ด้านลูกหนี้รายย่อยกลับมาชำระหนี้ได้แล้วประมาณ 70%” นางวิเรขากล่าว

สำหรับลูกหนี้ที่พักชำระหนี้ภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.ซอฟต์โลน) ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งมาตรการจบไปเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่า มีประมาณ 92-95% ที่ขอต่อพักชำระหนี้ถึงสิ้นเดือน ธ.ค. 63 นี้ และที่เหลืออีก 5% หรือประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทขอพักหนี้ต่อถึงเดือน มิ.ย. 2564 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ซึ่งต้องรอดูกระแสเงินสด

ส่วนลูกหนี้ภาคธุรกิจ วงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท ที่ยังไม่สามารถติดต่อได้ จากเดิมพบว่ามีสัดส่วน 6% ล่าสุดลดลงเหลือ 2% ส่วนลูกหนี้รายย่อยที่ยังไม่สามารถติดต่อได้มีราว 1% ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง โดยขณะนี้ธนาคารพยายามติดต่อลูกหนี้ โดยใช้วิธีติดต่อผ่านทาง SMS หรือผ่านทางเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ (RM) และระบบออนไลน์ อย่างไรก็ดี ลูกหนี้บางรายอาจจะเปลี่ยนเบอร์มือถือหรือที่อยู่ทำให้ารถติดต่อได้ แต่จากการติดต่อตัวเลขลูกหนี้ที่ติดต่อไม่ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง

“มาตรการที่มีอยู่ยังสามารถรองรับได้ โดย ธปท.พร้อมปรับความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมในการดูแลเชิงรุก ซึ่งจากเดิมที่ใช้มาตรการวงกว้างไม่รู้ว่าลูกค้าเป็นอย่างไร แต่จากการใช้มาตรการเฉพาะเจาะจง ทำให้เราทราบว่าลูกหนี้แต่ละรายเป็นอย่างไร หรือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ก็ยังอาจต้องใช้ยาแรงขึ้น โดยการใช้มาตรการเฉพาะเจาะจง ถือเป็นผลดีในระยะยาว แต่หากพักชำระหนี้เป็นการทั่วไป ภาระอื่น ๆ ก็ยังคงอยู่” นางวิเรขากล่าว