ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่า จากคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ

REUTERS/Mike Segar

ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่า จากคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ  หลังนายโจ ไบเดน จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2564 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 4-8 มกราคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (4/1) ที่ระดับ 29.97/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (30/12) ที่ระดับ 29.96/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

แม้ว่าช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า อย่างไรก็ดีในช่วงปลายสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะสามารถฟื้นตัวได้จากการที่มีวัคซีนต้านโควิด-19

นอกจากนั้นการคาดการณ์ที่ว่ารัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของนายโจ ไบเดน จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2564 เป็นปัจจัยกดดันดอลลาร์ให้แข็งค่าขึ้นด้วยเช่นกัน

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการประกาศระหว่างช่วงวันหยุดนั้น กระทรวงแรงงานสหรัฐได้มีการเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 787,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ลดลงจากระดับ 806,000 รายที่มีการรายงานในสัปดาห์ก่อนหน้า และน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะมีผู้ขอยื่นรับสวัสดิการว่างงาน 828,000 ราย ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลง 2 สัปดาห์ติดต่อกัน

โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงระหว่างสัปดาห์จากการรายงานว่า นายราฟาเอล วอร์นอค และนายโจน ออสซอฟฟ์ จากพรรคเดโมแครต ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภารอบสองในรัฐจอร์เจีย ส่งผลให้พรรคเดโมแครตสามารถครองอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งในทำเนียบขาว วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะช่วยให้คณะบริหารของนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐสามารถออกมาตรการต่าง ๆ ได้ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งรวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

แม้ว่า ก่อนหน้านี้จะมีรายงานกลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้บุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาสหรัฐ ส่งผลให้สภาคองเกรสต้องระงับการประกาศรับรองชัยชนะของนายไบเดนเป็นการชั่วคราว และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้การอารักขารองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ซึ่งเป็นประธานในการประกาศผลการนับคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง

ขณะที่นางมูเรียล บาวเซอร์ นายกเทศมนตรีกรุงวอชิงตัน ได้ประกาศขยายเวลาเคอร์ฟิวในกรุงวอชิงตันออกไปอีก 15 วัน จนกว่าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโจ ไบเดน จะผ่านพ้น และได้ขอให้ทหารจากหน่วยกองกำลังพิทักษ์ชาติ (National Guard) ตรึงกำลังเพื่อรักษาความปลอดภัยในกรุงวอชิงตัน

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่มีการเปิดเผยในเมื่อคืนวันพุธ (6/1) มีรายงานตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐปรับตัวลดลง 123,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นการลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายน และสวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 88,000 ตำแหน่ง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจปิดกิจการและปลดพนักงานจำนวนมาก

ทางด้านไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 54.8 ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 58.4 ในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ซึ่งระบุว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 57.2 ในเดือนธันวาคม สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 54.6 โดยได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อใหม่

ด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 787,000 รายในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเป็นการปรับตัวลดลง 3 สัปดาห์ติดต่อกัน

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงสัปดาห์นี้ ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินบาทแข็งค่าตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยหลุดแนวรับสำคัญ ที่ระดับ 30.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับสกุลเงินเอเชีย แม้ความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจะเพิ่มขึ้นจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นและกระจายออกไปในหลายจังหวัดก็ตาม

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี เผยว่า ไทยจะได้รับวัคซีนโควิด-19 ภายในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 นี้ จำนวน 2 ล้านโดสแรกจากจีน (ทยอยเป็น 2 แสนโดสภายในเดือน กุมภาพันธ์ 8 แสนโดสภายในเดือนมีนาคม และ 1 ล้านโดสภายในเดือนเมษายน) ส่วนที่เหลือตั้งเป้าซื้อจากวัคซีนที่ไทยจองกับแอสตราเซเนกามีจำนวน 26 ล้านโดส และบริษัทอื่น ๆ จนครบ

โดยตั้งเป้าหมายว่าประชากร 50% จะได้รับวัคซีนฟรีจากรัฐบาลภายในปี สำหรับตลาดหุ้นไทยได้รับแรงหนุนจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณไม่ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ และยังมีความคาดหวังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มด้วยหลังจากที่มีการคุมเข้มการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งพัฒนาการด้านวัคซีนต้านโควิด-19 และยังได้แรงหนุนจากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เงินบาทยังคงปรับตัวแข็งค่าจากกระแสเงินทุนไหลเข้า

ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.02-30.14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (18/12) ที่ระดับ 30.05/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (4/1) ที่ระดับ 1.2237/38 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (30/12) ที่ระดับ 1.2279/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรถูกกดดันจากการที่สำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐ เปิดเผยว่า สหรัฐจะสั่งเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นจากสินค้าบางรายการของสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งรวมถึงชิ้นส่วนเครื่องบินและไวน์จากฝรั่งเศสและเยอรมนี

อย่างไรก็ตามยังไม่ได้มีการระบุแน่ชัดว่าการเก็บภาษีดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อใด ในขณะที่ฝั่งรัฐบาลอังกฤษอาจใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โดยนักลงทุนยังคงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในยุโรปและสหราชอาณาจักร แม้ว่าเมื่อคืนวันพุธข่าวสำนักงานยาแห่งยุโรป (EMA) และคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ประกาศอนุมัติการใช้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของบริษัทโมเดอร์นา อิงค์ ซึ่งเพิ่มความหวังว่ายุโรปจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในเมื่อวันพุธ (6/1) ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 46.4 ในเดือนธันวาคม หลังจากแตะระดับ 41.7 ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม โดยได้รับผลระทบจากการชะลอตัวของการจ้างงานและคำสั่งซื้อใหม่

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.2233-1.2272 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (18/12) ที่ระดับ 1.2264/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (4/1) ที่ระดับ 102.97/98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (30/12) ที่ระดับ 103.27/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยในประเทศญี่ปุ่นนายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุโตเกียว พร้อมอนุมัติมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การประกาศภาวะฉุกเฉินดังกล่าวซึ่งจะมีผลบังคับใช้้เป็นเวลา 1 เดือนนั้น จะขอให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน และเรียดร้องให้ธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงร้านอาหาร สถานบันเทิง และห้างสรรพสินค้า งดให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลา 19.00 น. และปิดให้บริการในเวลา 20.00

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 103.76-103.99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (18/12) ที่ระดับ 103.86/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ