เงินบาทแข็งค่า ขานรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

เงินบาท

เงินบาทแข็งค่า ขานรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 13 มกราคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/1) ที่ระดับ 30.02/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (12/1) ที่ระดับ 30.10/11 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลง เนื่องมาจากนักลงทุนมีความหวังว่าคณะบริหารของนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โดยนายโจไบเดนส่งสัญญาณว่าเขาจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ในวันพฤหัสบดีนี้ ก่อนที่จะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 มกราคม

ทางด้านนายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐ ได้แจ้งนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อคืนนี้ว่า เขาจะไม่ถอดถอน ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ซึ่งความเคลื่อนไหวของนายเพนซ์มีขึ้นเพียงไม่นานก่อนที่สภาผู้แทนฯจะลงมติเพื่อเรียกร้องให้นายเพนซ์และคณะรัฐมนตรีใช้บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 23 เพื่อปลด ปธน.ทรัมป์ออกจากตำแหน่ง

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมดิ่งลงสู่ระดับ 95.9 ในเดือนธันวาคม ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 100.0 จากระดับ 100.9 ในเดือนพฤศจิกายน ส่วนทางด้านสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานซึ่งเป็นมาตรการวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงานลดลง 105,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 6.527 ล้านตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการด้านการเงินแห่งวุฒิสภาสหรัฐ จะจัดการประชุมเพื่อโหวตรับรองการเสนอชื่อนางเจเน็ล เยลเลน ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังคนใหม่ของสหรัฐในวันที่ 19 มกราคมนี้

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (13/1) เนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบมาตรการด้านเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ โดยเบื้องต้นได้มีการพิจารณาเงินเยียวยา 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน และได้ให้กระทรวงการคลังเร่งจัดทำรายละเอียดเสนอเข้า ครม.ในสัปดาห์หน้า โดยคำนึงถึงสถานการณ์ของโควิด-19 ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

นอกจากนั้นยังมีมาตรการลดค่าไฟฟ้าทั้งในส่วนของครัวเรือน กิจการขนาดเล็กเป็นเวลา 2 เดือน

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 29.95-30.04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.02/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/1) ที่ระดับ 1.2205/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (12/1) ทื่ระดับ 1.2165/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าลงของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จากความคาดหวังที่เศรษฐกิจสหรัฐจะกลับมาฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้

อย่างไรก็ตามตัวเลขเศรษฐกิจเมื่อคืนนี้ เปิดเผยว่า ดัชนียอดขายปลีกของอิตาลี -6.9% ในเดืนอพฤศจิกายน หดตัวกว่าเดือนตุลาคมที่ 0.5% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2180-1.2222 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2183/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/1) ที่ระดับ 103.63/65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (12/1) ที่ระดับ 104.13/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าลงของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นเล็งประกาศภาวะฉุกเฉินเพิ่มอีก 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดโอซากา เกียวโต เฮียงโงะ ไอจิ กิฟุ ฟูกูโอกะ และ โทชิงิ เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องของไวรัสโควิด-19 หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงขึ้นไม่หยุด แม้ว่าก่อนหน้านี้ ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงโตเกียว รวมถึงจังหวัดคานากาวะ ชิบะ และไซตามะ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 103.76-103.84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 103.84/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซน เดือนพฤศจิกายน (13/1), ดัชนีราคาผุ้บริโภคของสหรัฐ เดือนธันวาคม (13/1), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของเยอรมนี ประจำไตรมาส 3 (14/1), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (14/1),

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหราชอาณาจักร ประจำไตรมาส 3 (15/1), ดัชนียอดขายค้าปลีกของสหรัฐเดือนธันวาคม (15/1), รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เดือนมกราคม (15/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.5/0.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 2.25/2.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ