หุ้น OR เขย่าตลาดทุนไทย กางแผนปั้นธุรกิจโตหลัง ‘โควิด-19’

หุ้น OR

น่าจะ “เบิ้ม” สุดของปี 2564 นี้แล้ว สำหรับการเสนอขายหุ้น IPO (หุ้นสามัญที่เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก) ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR จำนวน 2,610 ล้านหุ้น (ไม่รวมส่วนเกินอีก 390 ล้านหุ้น)

ซึ่งสร้างความคึกคักให้กับตลาดหุ้นไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยที่ทางบริษัทพยายามจะกระจายหุ้นคนไทยอย่างทั่วถึงมากที่สุด ด้วยวิธี “small lot first” หรือการกระจายหุ้นให้แก่นักลงทุนรายย่อยเป็นอันดับแรก และเปิดให้จองซื้อหุ้น IPO นานถึง 10 วัน สร้างประวัติศาสตร์เป็นหุ้น IPO ที่มีระยะเวลาการจองซื้อนานที่สุดในตลาดทุนไทย

“พงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล” กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น OR กล่าวว่า การจำหน่ายหุ้นในแก่ผู้ลงทุนรายย่อย จะมีตัวแทนจำหน่ายผ่าน 3 ธนาคาร

ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทยระหว่างวันที่ 24 ม.ค.จนถึง 12.00 น. ของวันที่ 2 ก.พ. ผ่านทั้งช่องทางออนไลน์และสาขาธนาคาร

ทั้งนี้ ช่วงราคาเสนอขายอยู่ที่ 16-18 บาท/หุ้น โดยนักลงทุนจะต้องจองซื้อที่ราคาสูงสุดที่ 18 บาท/หุ้น กำหนดให้จองซื้อขั้นต่ำ 300 หุ้น รวมเป็นเงิน 5,400 บาท

“วิธีการจัดสรรของเราเรียกว่า small lot first หรือให้สิทธิผู้ถือหุ้นรายย่อยที่จองจำนวนน้อยก่อน โดยรอบแรกจะจัดสรรให้รายละ 300 หุ้น และหลังจากนั้นจะเพิ่มรอบละ 100 หุ้น จนกว่าหุ้นจะหมด และจะมีการประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับสิทธิจองซื้ออย่างช้าวันที่ 6 ก.พ. โดย OR จะเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นวันแรก 11 ก.พ.นี้”

เปิดภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในปั๊ม

ขณะที่ในแง่ภาพธุรกิจของ OR นั้น “จิราพร ขาวสวัสดิ์” รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ OR กล่าวว่า OR ถือเป็นแกนนำหลักของกลุ่มธุรกิจ ปตท. โดยประกอบธุรกิจมานานกว่า 40 ปี ได้แก่ ธุรกิจค้าน้ำมัน ธุรกิจค้าปลีก (nonoil) รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งนักลงทุนน่าจะคุ้นเคยกันดีกับชื่อสถานีบริการน้ำมัน “PTT Station”

ที่ผ่านมาปั๊มน้ำมัน ปตท.ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งต่อเนื่องมา 23 ปี และข้อมูลล่าสุด (ณ 30 ก.ย. 63) บริษัทมีสถานีบริการรวมทั้งสิ้น 1,968 สาขา ส่วนในตลาดพาณิชย์ (จำหน่ายให้แก่อากาศยาน เรือ ฯลฯ) มีลูกค้ามากถึง 2,600 ราย

ขณะที่ธุรกิจ nonoil ที่โดดเด่น ได้แก่ ร้านกาแฟ “คาเฟ่ อเมซอน” (Cafe’ Amazon)ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากที่บริษัทบุกเบิกนำเอาธุรกิจค้าปลีกเข้ามาให้บริการในปั๊มน้ำมันเป็นรายแรกในประเทศไทย โดยข้อมูลปี 2562 คาเฟ่ อเมซอนมียอดขายสูงถึง 264 ล้านแก้ว และช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 อยู่ที่ 200 ล้านแก้ว ผ่านจำนวนสาขาทั้งสิ้น 3,168 สาขา

“คาเฟ่ อเมซอนเป็นธุรกิจค้าปลีกที่สร้างการเติบโตให้เราเป็นอย่างมาก โดยมีอัตราการเติบโตในปั๊มน้ำมัน 10.5% และนอกปั๊มน้ำมันสูงถึง 46% จากการใช้วิธีการขยายธุรกิจผ่านการขายแฟรนไชส์ ส่งผลให้ปัจจุบันคาเฟ่ อเมซอนเป็นร้านกาแฟที่มีรายได้สูงที่สุดเป็นอันดับ 12 ของโลก”

ทั้งนี้ ตามแผน 5 ปี (ปี 2564-2568) OR มีแผนขยายสาขาคาเฟ่ อเมซอนเพิ่มอีกกว่า 2,100 สาขา โดยตั้งเป้า 60% เป็นสาขาใหม่นอกปั๊ม ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าเฉลี่ยต่อการใช้บริการ (ticket size) ให้เพิ่มขึ้น

ส่วนธุรกิจค้าปลีกในปั๊มอีกส่วนก็คือ ร้านค้าสะดวกซื้อ โดยบริษัทมีการทำสัญญากับร้านค้าปลีกอันดับหนึ่งในประเทศ “7-Eleven” และมีความชัดเจนแล้วว่าจะต่อสัญญาที่จะจบในปี 2566 ต่อไป อีกทั้งยังมีร้านสะดวกซื้อในเครือตัวเองอย่าง “Jiffy” อีกด้วย

กำไรโตฝ่าวิกฤต “โควิด”

“จิราพร” บอกว่า ภาพรวมผลดำเนินงานของ OR ในปี 2563 แม้ว่าจะเกิดวิกฤตโควิด-19 บริษัทยังสามารถเติบโตได้ดี โดยช่วง 9 เดือนแรกปี 2563 มียอดขายรวมกว่า 3 ล้านบาท กำไรสุทธิหลังหักค่าใช้จ่าย (EBITDA) 12,523 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 5,869 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วนรายได้หลักยังมาจากธุรกิจน้ำมัน โดยมีสัดส่วนกำไรก่อนหักภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) ที่ 68.7% ส่วนธุรกิจ nonoil อยู่ที่ 25.1% และธุรกิจต่างประเทศ 5.8%

แผนลงทุน 5 ปีขยายธุรกิจ

“พิจินต์ อภิวันทนาพร” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารการเงิน OR กล่าวว่า แผนการลงทุน 5 ปีต่อจากนี้บริษัทเตรียมงบฯลงทุนไว้ราว 74,600 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจน้ำมัน 34.6% เพื่อปูทางเป็นแพลตฟอร์มให้ธุรกิจอื่น ๆ สามารถเติบโตได้พร้อมกัน ธุรกิจค้าปลีก 28.6% และธุรกิจต่างประเทศ 21.8% นอกจากนี้ ยังแบ่งงบฯอีก 15% ไว้เพื่อขยายไปยังธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากธุรกิจหลักที่มีอยู่

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ “ราชสุดา รังสิยากูล” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์องค์กร นวัตกรรมและความยั่งยืน OR กล่าวว่า บริษัทวางแผนขยายปั๊มน้ำมัน ปตท.กว่า 100 แห่งต่อปี โดยตั้งเป้าภายในปี 2568 จำนวนสาขาจะเพิ่มขึ้นจาก 1,968 สาขา ไปอยู่ที่ 2,500 สาขา แต่จะเน้นให้ดีลเลอร์ลงทุนเอง (DODO) 80% เพื่อควบคุมต้นทุน

ขณะที่ธุรกิจต่างประเทศบริษัทมีแผนขยายธุรกิจค้าน้ำมันผ่านการจับมือกับผู้ประกอบการท้องถิ่นในระดับภูมิภาคและในระดับโลก เพื่อสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจ (synergy) โดยเฉพาะผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับสภาพตลาด ส่วนธุรกิจค้าปลีกจะขยายร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอนเพิ่มเติมในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออก

“ธุรกิจน้ำมันยังเป็นธุรกิจหลักที่สร้างผลตอบแทนให้เราได้อย่างมั่นคง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เราจึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตน้ำมันด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อให้ฐานธุรกิจตรงนี้เป็นไปได้อย่างราบรื่น ส่วนอีก 2 ธุรกิจที่เหลือจะเป็นธุรกิจที่บริษัทหวังให้ช่วยสร้างการเติบโต โดยเฉพาะการเติบโตในต่างประเทศ”

รุกธุรกิจใหม่ล้อเทรนด์โลก

ส่วนโอกาสในการขยายธุรกิจให้สอดรับกับเทรนด์โลกอนาคตมากขึ้นนั้น “ราชสุดา” บอกว่า บริษัทเริ่มเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ผ่านการให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV parking station) จำนวน 25 แห่ง เพื่อตอบสนองเทรนด์การใช้พลังงานทางเลือก

รวมถึงเสนอบริการซ่อมแซมรถยนต์ไฟฟ้าเบื้องต้นที่ศูนย์บริการรถยนต์ “FIT Auto” ในเครือ รวมถึงในอนาคตมีแผนลงทุนตอบรับสังคมการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นผ่านการเข้าไปศึกษาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่าง ๆ ได้แก่ การผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า การผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า การผลิตและจำหน่ายแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ

ทั้งหมดนี้เป็นภาพโอกาสในการเติบโตของ OR ในอนาคต ส่วนในระยะสั้นนี้ นักลงทุนต่างหวังว่า เปิดเทรดแล้วราคาหุ้นจะสามารถฝ่าวิกฤตไวรัส จนสามารถยืนเหนือราคาจองซื้อได้ ซึ่งต้องลุ้นกันต่อไป