ดอลลาร์สหรัฐฟื้นตัว ท่ามกลางความไม่แน่นอนของตลาด

เงินดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐฟื้นตัวในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความไม่แน่นอนของตลาด s]y’ธนาคารกลางสหรัฐ มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับร้อยละ 0.00-0.25 ในการประชุมครั้งแรกของปี 2564

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/1) ที่ระดับ 30.02/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (27/1) ที่ระดับ 29.96/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า ขณะที่ตลาดดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปิดลบ 633.83 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจซึ่งหนุนความต้องการดอลลาร์สหรัฐในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับร้อยละ 0.00-0.25 ในการประชุมครั้งแรกของปี 2564

นอกจากนั้น เฟดระบุว่าจะยังคงซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงินรวม 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน โดยเฟดจซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ในวงเงิน 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน

โดยแถลงการณ์หลังการประชุมของเฟดระบุว่า เฟดจะยังคงใช้เครื่องมือทุกอย่างในการสนับสุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเพื่อให้มีการจ้างงานเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพของราคา

และเฟดยังระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กำลังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วสหรัฐและทั่วโลก ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงานชะลอตัวลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และพัฒนาการของวัคซีนด้านโควิด-19

ในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐที่มีการเปิดเผยนั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ในเดือนธันวาคม สอดคล้องกับตัวเลขที่นักวิเคราะห์คาดการณ์หลังจากพุ่งขึ้นร้อยละ 1.0 ในเดือนพฤศจิกายน

ทั้งนี้ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐานปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกันในเดือนธันวาคม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.01-30.05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.03/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/1) ที่ระดับ 1.2096/1.00 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (27/1) ที่ระดับ 1.2126/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้รับแรงกดดันจากประกาศของรัฐบาลประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักของกลุ่มสหภาพยุโรป

โดยประกาศดังกล่าวได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเยอรมนีลง จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่โตร้อยละ 4.4 เป็นโตร้อยละ 3.0 โดยคาดเศรษฐกิจโตช้าลง เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลเยอรมันต้องประกาศใช้นโยบายล็อกดาวน์อีกครั้ง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2079-1.2113 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2102/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/1) ที่ระดับ 104.26/29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (27/1) ที่ระดับ 103.75/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าเนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงทำการซื้อขายอย่างระมัดระวังท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 104.04-104.37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 104.30/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหภาพยุโรป เดือนมกราคม (28/1), ดัชนีราคาผู้บริโภคเยอรมัน เดือนมกราคม (28/1), ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสหรัฐ ไตรมาส 4/2563 (28/1), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (28/1), ดุลการค้าสหรัฐ เดือนธันวาคม (28/1) , ยอดขายบ้านใหม่สหรัฐ เดือนธันวาคม (28/1),

ดัชนีราคาผู้บริโภคญี่ปุ่น เดือนมกราคม (29/1), อัตราว่างงานญี่ปุ่น เดือนธันวาคม (29/1), ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือนธันวาคม (29/1), ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมไทย เดือนธันวาคม (29/1), ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเยอรมนี ไตรมาส 4/2563 (29/1), ดุลการค้าไทยเดือนธันวาคม (29/1), อัตราการว่างงานเยอรมันเดือนมกราคม (29/1),

ดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลสหรัฐเดือนธันวาคม (29/1), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเขตชิคาโกสหรัฐ เดือนมกราคม (29/1), รายงานยอดขายที่อยู่อาศัยที่การปิดการขายสหรัฐ เดือนธันวาคม (29/1), ดัชนีวามเชื่อมั่นผู้บริโภครัฐมิชิแกนสหรัฐ เดือนมกราคม (29/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.28/0.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 3.10/3.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ