“อาคม” ยันฐานะการเงิน-การคลังประเทศ มีหนี้แต่ไม่ล้มละลาย

รมว.คลัง เผยการคลังของประเทศมีภูมิคุ้มกันไม่ล้มละลาย ชี้มีทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 2-3 แสนล้านดอลลาร์ ใช้หนี้ระยะสั้นของประเทศได้ถึง 3 เท่า ด้านหนี้สาธารณะอยู่ 50% ตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ส่วนกู้ 1 ล้านล้าน เพื่อรับมือโควิด

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา “พลิกสูตรวัคซีนสู้โควิด พลิกวิกฤตเศรษฐกิจไทย” จัดโดย บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) ว่า ในสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด เศรษฐกิจมีความจำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกัน

อันดับแรกคือภูมิคุ้มกันในประเทศ ได้แก่ 1) การขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ (GDP) หรือรายได้ของประเทศ ต้องมีความเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมั่นคง 2) การเงินการคลังในประเทศ ซึ่งทุนสำรองระหว่างประเทศ ปัจจุบันอยู่ที่ 2-3 แสนล้านดอลลาร์ สามารถชำระหนี้ระยะสั้นของประเทศได้ถึง 3 เท่า ซึ่งถือว่าค่อนข้างมีภูมิคุ้มกัน

3) การเงินการคลังในประเทศ ซึ่งต้องดูว่าเป็นอย่างไร เราดูฐานะการคลัง มีเงินสำรองเหมือนกันคือเงินสำรองภายในประเทศ ณ สิ้นปีมีเงินในกระเป๋าเท่าไหร่ หลังจากเก็บภาษี มีรายได้จากรัฐวิสาหกิจแล้วใช้จ่ายไปเหลือเท่าไหร่ในสิ้นปี เรียนว่ายังมั่นคงอยู่

“ที่ผ่านมามีกระแสข่าวประเทศล้มละลายออกมาบ่อย ๆ โดยยืนยันว่าฐานะคงคลังสิ้นปี 2563 ที่ผ่านมา ยังมีความมั่นคง ฉะนั้น ข้อมูลที่ปรากฎว่าประเทศล้มละลายนั้นไม่ใช่ความจริง และ 4) หนี้สาธารณะของประเทศ โดยขณะนี้อยู่ระดับ 50% ต่อ GDP ซึ่งยังไม่เกินเพดานที่กำหนดไว้ 60% ต่อ GDP”

อย่างไรก็ดี สาเหตุที่หนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับ 50% ต่อ GDP นั้น เป็นเพราะว่าปีที่แล้ว โควิด-16 เข้ามา จึงจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อมารับมือ เนื่องจากลำพังงบประมาณประจำปีที่มีอยู่มีรายจ่ายผูกพันแล้ว เพียงงบจากงบกลาง และงบฉุกเฉินไม่เพียงพอ เพราะโควิด-19 เป็นเหตุการณ์ที่ต้องแก้ไขเฉพาะหน้า เพื่อให้มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์คลี่คลาย จึงได้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มาดูแลส่วนนี้

ทั้งนี้ ต้องมีภูมิคุ้มกันรูปแบบกลุ่ม ทั้งภาคการผลิต เกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการ ซึ่งมีความสำคัญเชื่อมโยงกัน รวมถึงต้องมีภูมิคุ้มกันของประชาชน และแรงงาน ต้องมีการออมเพื่ออนาคต แบ่งเป็น การออมภาคบังคับ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ประกันสังคม เป็นต้น และการออมทางเลือก เช่น ประกันชีวิต