ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวในกรอบแคบ จับตาผลประชุมเฟดพรุ่งนี้(17มี.ค.)

ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐยังคงปรับตัวในกรอบแคบ จับตาผลการประชุมเฟดวันพรุ่งนี้(17 มี.ค.) รมว.พลังงานเผยรัฐบาลเตรียมออกนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย หลังผ่านวิกฤตโควิด-19 ส่วนเงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 30.75/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 16 มีนาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/3) ที่ระดับ 30.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (15/3) ที่ระดับ 30.70/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวในกรอบแคบ

เนื่องจากนักลงทุนยังจับตารอการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 16-17 มีนาคมนี้ เพื่อดูท่าทีของเฟดเกี่ยวกับแนวโน้มการดีดตัวขึ้นของเงินฟ้อที่เป็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

ในขณะที่เมื่อคืนนี้ (15/3) นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐแสดงความเห็นตอบโต้ข้อกังขาและความวิตกกังวลของผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุนส่วนหนึ่งที่ระบุว่ามาตรการฟื้นฟูเยียวยามูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ได้รับการอนุมัติและกำลังนำมาใช้อยู่ในเวลานี้ จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเร็วขึ้น ซึ่งความเสี่ยงสำคัญที่สหรัฐเผชิญอยู่ในขณะนี้ก็คือ ปัญหาเรื่องแรงงานที่มีความว่างงานมากขึ้นและนานขึ้น

ขณะเดียวกันรัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวว่า เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลดลง ดังนั้นเมื่อได้แผนกระตุ้นที่ทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ย่อมเป็นธรรมดาที่ราคาต่าง ๆ จะปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ในส่วนของค่าเงินบาท การเคลื่อนไหวยังทรงตัวจากปิดตลาดเมื่อวานนี้ (15/3) โดยยังคงรอความชัดเจนจากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ เช่นเดียวกัน นอกจากนี้รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงานเปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมออกนโยบายมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลังจากผ่านวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 และรองรับความท้าทายของโลกที่กำลังเกิดขึ้น

ทั้งเรื่องของการเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีดิจิทัล การเตรียมความพร้อมรองรับการโยกย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติจากปัญหาสงครามการค้าและการหาแนวทางมารองรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจด้านต่าง ๆ

ซึ่งความท้าทายทั้งหมดนี้ รัฐบาลได้จัดลำดับความสำคัญเอาไว้เป็นลำดับต้น ๆ เพื่อหาทางมารองรับแล้ว

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.71-30.76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.75/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/3) ที่ระดับ 1.1925/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (15/3) ที่ระดับ 1.1934/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลง หลังหลายประเทศในสหภาพยุโรป เช่น อิตาลี เยอรมนี และฝรั่งเศส ประกาศระงับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หลังมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากอาการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติ และบางรายมีอาการลิ่มเลือดอุดตันในปอดหลังได้รับวัคซีน

โดยองค์การยาแห่งยุโรป (EMA) แถลงในวันนี้ว่า EMA จะทำการพิจารณาทบทวนข้อมูลในวันพรุ่งนี้ (17/3) เกี่ยวกับรายงานที่ระบุว่า วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนบางราย

นอกจากนี้ EMA จะจัดการประชุมวาระพิเศษในวันพฤหัสบดีนี้ (18/3) เพื่อหาข้อสรุปต่อรายงานที่ระบุว่าวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซเนก้าทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1912-1.1938 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1934/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/3) ที่ระดับ 109.23/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (15/3) ที่ระดับ 109.07/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเล็กน้อยตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ตลาดยังคงจับตารอการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันที่ 18-19 มีนาคมนี้

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.08-109.28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.17/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกของสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ (16/3), ผลิตผลภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (16/3), ยอดส่งออกของญี่ปุ่น เดือนกุมภาพันธ์ (17/3), ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซนเดือนกุมภาพันธ์ (17/3), ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (18/3),

ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหราชอาณาจักร (18/3), จำนวนผู้รับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (18/3), ดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่น เดือนกุมภาพันธ์ (19/3), ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (19/3), ดัชนีราคาผู้ผลิตของเยอรมนี (19/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.20/0.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 3.35/4.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ