กสิกรฯ แนะธุรกิจท่องเที่ยวเร่งสำรวจตัวเองก่อนเข้า “ฟื้นฟูธุรกิจ-พักทรัพย์พักหนี้”

ท่องเที่ยว

“ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” แนะธุรกิจท่องเที่ยวเร่ง “สำรวจ-ทบทวน” ตัวเอง เพื่อตัดสินใจเข้าร่วมมาตรการ “ฟื้นฟูธุรกิจ-พักทรัพย์พักหนี้” คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มที่มีกำลังซื้อยังชะลอตัวยาวอีก 18 เดือน

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวในรายการ “BIZ TALK” หัวข้อ มาตรการการเงินฟื้นฟูธุรกิจ กับอนาคตธุรกิจท่องเที่ยวไทย ปี 2564 ว่า มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ วงเงิน 250,000 ล้านบาท และมาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งมีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น จะมีการออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉบับใหม่ และคาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ค. 2564 ซึ่งคงจะเปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจสมัครเข้าร่วมโครงการต่อไป

ทั้งนี้ สินเชื่อฟื้นฟูที่ออกมา มีการปลดล็อกในหลาย ๆ เรื่องที่เป็นข้อจำกัดใน พ.ร.ก.ซอฟต์โลนเดิม ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ลูกค้าสามารถเข้าร่วมโครงการได้มากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจเองจะต้องพิจารณาตัวเอง ว่าธุรกิจกำลังขาดสภาพคล่องชั่วคราว หรือรุนแรงกว่านั้น

“ถ้าเพียงขาดสภาพคล่องชั่วคราว ก็สามารถขอใช้เฉพาะสินเชื่อฟื้นฟูได้ แต่ถ้าขาดสภาพคล่องจริง ๆ ก็ต้องคุยสถาบันการเงิน เพื่อขอพักชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ และถ้ามีหนี้เดิมอยู่ แล้วเริ่มมีปัญหาการชำระหนี้ ก็อาจจะต้องเข้าโครงการพักทรัพย์พักหนี้ เพราะกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นกลับมาเป็นปกติ คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่าอีก 2 ปีข้างหน้า” นางสาวธัญญลักษณ์กล่าว

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวเสริมว่า ในระยะข้างหน้า ยังต้องติดตามปัจจัยใหญ่ ๆ ที่เป็นตัวแปรสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ทั้งความทั่วถึงของการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยต้องพิจารณาถึงวิวัฒนาการของไวรัสโควิด-19 ด้วยว่ามีการกลายพันธุ์รุนแรงขึ้นหรือไม่ รวมถึงนโยบายของแต่ละประเทศในการเปิดประเทศ ตลอดจนกำลังซื้อ และความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่จะมาท่องเที่ยวในไทยด้วย

โดยศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองว่าการเที่ยวในประเทศปีนี้น่าจะมีนักท่องเที่ยว 2 ล้านคน ซึ่งไทยเที่ยวไทยน่าจะดีกว่าปีที่แล้ว จากการที่ภาครัฐผลักดันมาตรการต่าง ๆ ออกมา ทั้งเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 และมาตรการใหม่ ทัวร์เที่ยวไทย จะเข้ามาช่วยประคองได้รับระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ดี หากธุรกิจใดที่เน้นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นกลุ่มที่เข้ามาพักเป็นเวลานาน ที่มีกำลังซื้อ เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรป เป็นต้น อาจจะต้องรออีกราว 18 เดือนข้างหน้า หรือ 1 ปีครึ่ง ถึงจะฟื้นตัว

“ผู้ประกอบ ธุรกิจท่องเที่ยว คงต้องคำนึงว่า เรื่องรายได้ยังเป็นอะไรที่ไม่แน่นอนออกไปจนถึงปีหน้า ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องประเมินตัวเองว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ยังอยากทำธุรกิจเดิมอยู่ไหม ท่ามกลางความไม่แน่นอน ถ้าทำต่อ ยังสามารถปรับลดต้นทุน หรือเพิ่มประสิทธิภาพได้อีกแค่ไหน” นางสาวเกวลินกล่าว