มาแล้วจ้า “โกดังพักหนี้” แช่แข็ง 5 ปี เพื่อตั้งหลัก

หนี้-เงินบาท
คอลัมน์สามัญสำนึก
สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ฝังตัวบนโลกกว่า 1 ปีเต็มแล้ว ล่าสุดที่ประชุม ครม.วันที่ 23 มีนาคม 2564 ได้เห็นชอบการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ 2 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ หรือ “สินเชื่อฟื้นฟู” วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท

และ 2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยผู้ประกอบการมีสิทธิซื้อทรัพย์สินคืนในภายหลัง หรือ “พักทรัพย์ พักหนี้” วงเงิน 1 แสนล้านบาท

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังกล่าวว่า เป็นมาตรการช่วยป้องกันไม่ให้ปัญหาการขาดสภาพคล่อง และปัญหาผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจลุกลามจนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เป็นการปรับปรุงมาตรการ “ซอฟต์โลน” ของเดิมที่มีเงื่อนไขและข้อจำกัดไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหา จนทำให้ผู้ประกอบการเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน

ครั้งนี้จึงปลดล็อกทุกปมปัญหา ทั้งการเข้าอุ้มสถาบันการเงินเพื่อให้ “กล้า” และพร้อมปล่อยกู้มากขึ้นด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา และเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปีในช่วง 5 ปีแรก โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ 6 เดือนแรก

พร้อมกับขยายระยะเวลาผ่อนชำระยาว 5 ปี สอดรับกับสภาพปัญหาที่ยืดเยื้อ และกำหนดคุณสมบัติเปิดกว้างการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจจากเดิมที่โฟกัสเฉพาะเอสเอ็มอี ขยายไปถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ขึ้นด้วย

โดยเปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อ แต่ไม่เกิน 150 ล้านบาท

สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับแบงก์ ก็สามารถขอสินเชื่อฟื้นฟูได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท

ขณะที่จากข้อมูลการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน (ภาคแรก) พบว่า วงเงินปล่อยกู้เฉลี่ยรายละ 1.7 ล้านบาทเท่านั้น สะท้อนถึงการช่วยเหลือแต่ละรายที่ต่ำมาก และมีผู้เข้าถึงประมาณ 7 หมื่นกว่ารายเท่านั้น

ส่วนมาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” หรือ “โกดังพักหนี้” (asset warehousing) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่า ธปท.กล่าวว่า เป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อช่วยผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง และต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัวแต่ยังมีศักยภาพและมีหลักประกัน

จึงเปิดเงื่อนไขให้ลูกหนี้เจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงินเพื่อ “แช่แข็งหนี้” โดยการนำทรัพย์สินมาตีโอนให้สถาบันการเงินเพื่อชำระหนี้ พร้อมสัญญาซื้อคืนภายในระยะเวลา 3-5 ปี เท่ากับราคาตีโอนบวก ต้นทุนการถือครองทรัพย์สิน 1% ต่อปี และต้นทุนในการดูแลรักษาทรัพย์ตามสมควรแก่เหตุ

เช่นที่ รมว.คลังบอกว่า “สถาบันการเงินไม่ได้เอากำไรจากการขายคืนทรัพย์”

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อช่วยไม่ให้ผู้ประกอบการธุรกิจถูกนายทุนไม่ว่าจะทุนต่างชาติหรือทุนไทยมา “กดราคา” บีบซื้อไปในราคาถูก ๆ ในช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการไม่มีทางเลือก

อย่างไรก็ดี นอกจากเป็นการ “ช่วยผู้ประกอบการ” ขณะเดียวกัน แบงก์ก็ถือว่าได้ประโยชน์ไปเต็ม ๆ เพราะช่วยให้ลูกหนี้ไม่กลายเป็นหนี้เสีย ที่กลายเป็นภาระหนักของแบงก์

โดยที่แบงก์ชาติก็จัดทำเงื่อนไขเพื่ออุ้มสถาบันการเงินอย่างเต็มที่เช่นกัน เพื่อหวังที่จะเห็นการส่งต่อมาตรการ (ครั้งใหม่) ไปถึงผู้ประกอบการอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

ต้องยอมรับว่านี่คือมาตรการ “ซื้อเวลา” เพื่อรอวันที่เศรษฐกิจฟื้น นักท่องเที่ยวกลับมา (ไม่เหมือนเดิม) นี่จึงไม่ใช่สูตรสำเร็จ แต่เป็นการ “หยุดพัก-แช่แข็งหนี้” ในช่วงวิกฤต 3-5 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจมีเวลาตั้งหลักวางแผนปรับตัวเพื่อกลับมาเปิดกิจการใหม่ ในรูปแบบใหม่ หรือแม้กระทั่งการขายกิจการโดยที่ไม่ถูกกดราคา

เช่นที่ “บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า “โกดังพักหนี้” ก็จำเป็นต้องมี เพราะไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นหนี้เสีย แต่สิ่งสำคัญคือ “เศรษฐกิจต้องฟื้น” เพราะถ้าเศรษฐกิจไม่ฟื้นพักไปพักมา ตอนจบก็ต้อง “ฌาปนกิจ”