โควิดทุบเงินท่องเที่ยววูบ 2.1 ล้านล้าน กสิกรไทย แนะแก้โจทย์ใกล้-ไกล

ท่องเที่ยว

ธนาคารกสิกรไทย ชี้ โควิด-19 ทุบภาคท่องเที่ยวทั่วโลกทรุดหนักรอบ 33 ปี ไทยสูญเสียรายได้ 2.1 ล้านล้านบาท หายวับ 70% หลัง 2 เดือนแรกวูบ 5.5 หมื่นล้านบาท เผยใช้เวลา 3 ปีกว่าจะฟื้นตัวกลับที่เดิม แนะผู้ประกอบการไทยปรับตัวรับโจทย์ใกล้-ไกล เน้นเจาะไทยเที่ยวไทย-สร้างรายได้แหล่งใหม่ ควบคู่พัฒนาสู่ท่องเที่ยวที่ยั่งยืนก่อนเปิดรับนักท่องเที่ยว พร้อมปรับโครงสร้างเชิงเศรษฐกิจสร้างธุรกิจ “ฮีโร่” ชู สุขภาพ-อาหาร-รถยนต์ไฟฟ้าเสริมแกร่งเศรษฐกิจ

วันที่ 27 มีนาคม 2564 นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในหัวข้อ “เดินหน้าท่องเที่ยวไทย พ้นวิกฤตโควิด-19” ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV และภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยกลับมาเติบโต 2 หลักได้เหมือนเดิม

ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีรายได้จากธุรกิจการท่องเที่ยวเป็น “ฮีโร่” ที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจประเทศไทยมาโดยตลอด ในปี 2562 ธุรกิจท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับประเทศ 3 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 18% ของจีดีพีประเทศ ในจำนวนนี้เป็นรายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12% ของจีดีพี และรายได้จากนักท่องเที่ยวไทย 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6% ของจีดีพี

ซึ่งในมุมรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยคิดเป็น 1 ใน 5 ของโลก แต่ยังคงมีปัจจัยฉุดรั้ง เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ไทยอยู่ในอันดับ 130 เทียบ 140 ประเทศ ความปลอดภัย อันดับ 111 และด้านสุขอนามัย อันดับ 88

อย่างไรก็ดี หลังจากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ธันวาคม 2562 เป็นต้นมา ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลกทรุดตัวต่ำสุดในรอบ 33 ปี ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวทั้งระบบตั้งแต่ โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายของฝาก ธุรกิจรถเช่า ที่อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยว โดยในปี 2563 รายได้ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยหายไปจากระบบเป็นมูลค่ากว่า 2.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 13% ของจีดีพี หรือหายไปมากกว่า 70% ของรายได้

กสิกร

และในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 ที่เกิดโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้รายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวไทยสูญเสียรายได้เป็นมูลค่ากว่า 5.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งการท่องเที่ยวกำลังเจอศึกหนัก และฟื้นตัวช้ากว่าธุรกิจอื่น โดยคาดว่าจะต้องใช้เวลา 3 ปี หรือในปี 2567 จึงจะกลับมาได้เหมือนช่วงก่อนโควิด-19 หรือกลับมามีรายได้ 2.7 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2562 ที่มีรายได้ประมาณ 3 ล้านล้านบาท จึงเป็นโจทย์ที่ไทยต้องมองใกล้และไกล

ในช่วงระหว่างรอการฟื้นตัวในช่วง 3 ปีนี้ สิ่งที่ต้องทำมีอยู่ 3 เฟส คือ 1.ไทยเที่ยวไทย จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น 2.Regional การเดินทางระยะสั้นไม่เกิน 3-5 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นกลุ่มนักธุรกิจเป็นหลัก และ 3.Global Travel การเดินทางระดับโลก ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของไทยที่ต้องการให้อยู่นานขึ้น ใช้จ่ายมากขึ้น

โดยปัจจัยสำคัญจะเป็นตัวช่วยให้การท่องเที่ยวฟื้น คือ วัคซีนพาสปอร์ท (Vaccine Passport) แต่อาจจะต้องใช้เวลา ขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนของคนทั่วโลก การยอมรับในประสิทธิผลของวัคซีน และกระบวนการและการสื่อสารของประเทศไทยในรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เข้ามา

ทั้งนี้ “โจทย์ระยะใกล้” จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบธุรกิจไปได้ และการจ้างงานยังพอไปได้ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถประเมินความสามารถของตัวเองได้ เช่น 1.รายได้ต้องลดลงไม่ถึง 70% 2.บริหารค่าใช้จ่ายและรายได้ให้สอดคล้องกัน โดยจะต้องมีกำไรประมาณ 30% และ 3.ธุรกิจจะต้องมีสภาพคล่องอยู่นานได้ 6 เดือน และ 4.ทำธุรกิจมาระยะหนึ่งแล้ว และมีภาระหนี้และดอกเบี้ยไม่เยอะเกินไป

หากประเมินแล้วธุรกิจเป็นไปตามแนวทางนี้ก็มีโอกาสที่จะรอด และในระหว่างที่รอนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศฟื้นตัว ผู้ประกอบการควรหันมา 1.เจาะตลาดไทยเที่ยวไทยที่สอดรับกับพฤติกรรมคนไทย 2.สร้างรายได้ทางอื่นด้วยวิธีที่แตกต่าง และ 3.บริหารจัดการต้นทุน โดยไม่แข่งขันด้านราคา หากไม่ไหวอาจหยุดและมาทางออกร่วมกับธนาคารได้

สำหรับ “โจทย์ระยะไกล” คือ สร้างธุรกิจการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (Sustainable Tourism) แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและทรัพยากรต่าง ๆ ที่กระทบขีดความสามารถทางการแข่งขัน กระจายรายได้สู่ชุมชน ธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมไม่ถูกทำลาย นับเป็นโจทย์ที่ต้องปรับตัวทั้งในนโยบายระดับประเทศ และภาคธุรกิจต้องร่วมมือกัน ในการสร้างความสมดุล ระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

โดยสร้างธุรกิจการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน จะประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ 1. การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ (New Travel Culture) ปรับตัวจากการแข่งขันด้านราคา (Red Ocean) และเน้นนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ยกระดับไปสู่การท่องเที่ยวคุณภาพ (Blue Ocean)

เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) การท่องเที่ยวด้านการแพทย์ (Medical Tourism) เพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวให้สูงขึ้น และพัฒนาสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คือการอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (Green Ocean) และตอบโจทย์สังคม (White Ocean)

2. การสร้างความร่วมมือ (Collaboration) โดยภาครัฐ เอกชน และชุมชนในการจัดการธุรกิจท่องเที่ยว สร้างความเข้าใจให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ ใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นสร้างเอกลักษณ์การท่องเที่ยวเฉพาะพื้นที่ และให้ความสำคัญในการดูแลและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

3. การใช้เทคโนโลยีและข้อมูล (Digitalization) มาเป็นเครื่องมือเพื่อการท่องเที่ยวเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มและนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ในการวางแผนธุรกิจ การทำตลาดที่ทันสถานการณ์ แชร์ข้อมูลแก่ผู้เกี่ยวข้อง อำนวยความสะดวกในการวางแผนการเดินทาง สร้างสังคมออนไลน์ เปิดประสบการณ์ใหม่ในการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวและการทำธุรกิจ

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยที่ผ่านมามีภาคการท่องเที่ยวเป็น “ฮีโร่” ที่เข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้ แต่ต่อจากนี้ไปเศรษฐกิจของประเทศอาจจะไม่สามารถพึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมเดียวอีกต่อไป หลังโควิด-19 ไทยจะต้องมีการปรับปรุงโครงเชิงโครงสร้าง เพราะเราต้องการ “ฮีโร่” หลายอุตสาหกรรมมากกว่าการท่องเที่ยว เช่น Healthy Care การดูแลสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านนี้ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เพราะไทยเป็นผู้ผลิตส่งออกที่ค่อนข้างเก่ง หรือด้านอาหาร หันมาทำอาหารสุขภาพ โดยพัฒนาควบคู่กับการท่องเที่ยวในระยะยาวให้แข็งแรงและแข็งแกร่งขึ้น

“เราต้องการฮีโร่เพิ่มมากขึ้น เน้นการเติบโตแบบยั่งยืน และเติบโตได้แบบไม่อายประเทศเพื่อนบ้าน โดยเราใช้โอกาสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น เตรียมตัวทเตรียมความพร้อม เพราะหากท่องเที่ยวกลับมาจะได้เจอสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และสุขอนามัตที่ดีขึ้น ซึ่งจะตอบโจทย์เป้าหมายของไทยที่ต้องการให้นักท่องเที่ยวอยู่นานขึ้น ใช้จ่ายมากขึ้น เที่ยวเมืองรองมากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น คำว่าโชคดีจริง ๆ ไม่มีหรอก หากไม่มีการเตรียมตัว เตรียมพร้อม”