ค่าเงินดอลลาร์เริ่มอ่อนค่า หลังผลตอบแทนพันธบัตรเริ่มอ่อนตัว

ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์เริ่มอ่อนค่า หลังผลตอบแทนพันธบัตรเริ่มอ่อนตัว ขณะที่เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.11-31.59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.27/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 12-16 เมษายน 2564 ค่าเงินบาทปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (12/14) ระดับ 31.50/52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (9/4) ที่ระดับ 31.40/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวในทิศทางแข็งค่า หลังเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในคืนวันศุกร์ (9/4) โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต พุ่งขึ้น 1.0% ในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนกุมภาพันธ์และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 4.2% ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบ 9 ปีครึ่งนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2554

และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ รายงานสต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากพุ่งขึ้น 1.4% ในเดือนมกราคมและเมื่อเทียบรายปี สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเพิ่มขึน 2.0% ในเดือนกุมภาพันธ์

อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของนักลงทุนเริ่มหายไป หลังนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวให้สัมภาษณ์กับรายการ “60 Minutes” ของสถานีโทรทัศน์ CBS เมื่อคืนนี้ (11/4) ว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังอยู่ในจุดหักเห (Inflection Point) โดยอธิบายว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงานมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยง หากการเปิดเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเกินไปจะส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก

ประกอบกับย้ำทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายว่าสิ่งหนึ่งที่เขาไม่กังวลคืออัตราเงินเฟ้อซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.6% ในขณะนี้ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐจะยังคงอัตราดอกเบี้ยต่ำ ถึงแม้ว่าในอนาคตอัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายเป็นระยะเวลาหนึ่ง

อย่างไรก็ดีในวันศุกร์ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีร่วงลงสู่ระดับ 1.531% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง

ทางการสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งหลายรายการเมื่อคืนนี้ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกพุ่งขึ้น 9.5% ในเดือนมีนาคม มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.9% หลังจากที่ปรับตัวลง 2.7% ในเดือนกุมภาพันธ์

โดยการดีดตัวขึ้นของยอดค้าปลีกในเดือนมีนาคม เป็นผลมาจากการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดสรรงบประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์เพื่อแจกจ่ายให้กับชาวอเมริกันโดยตรงคนละ 1,400 ดอลลาร์ รวมถึงสถานการณ์ด้านสาธารณสุขที่มีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในวงกว้าง

ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 576,000 รายในรอบสัปดาห์ ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 10 เมษายน โดยเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 710,000 ราย

ทางด้านสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านเพิ่มขึ้น 1 จุด สู่ระดับ 8.3 ในเดือน เม.ย. โดยดัชนีความเชื่อมั่นที่ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ถึงมุมมองโดยทั่วไปที่เป็นบวก

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือน มี.ค. หลังจากที่ลดลง 2.6% ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวม เป็นการวัดการปรับตัวของภาคโรงงาน เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค

ขณะที่สำนักงานศุลกากรจีน (GAC) รายงานในวันพุธ (13/4) ว่ายอดส่งออกในไตรมาส 1/2564 พุ่งขึ้น 38.7% แตะที่ 4.61 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 7.04 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 19.3% แตะที่ 3.86 ล้านล้านหยวน ซึ่งส่งผลให้จีนมียอดเกินดุลการค้าพุ่งขึ้นแข็งแกร่งถึง 690.6% แตะที่ 7.5929 แสนล้านหยวน

ส่วนในเดือน มี.ค.เพียงเดือนเดียวนั้นยอดส่งออกของจีนเพิ่มขึ้น 30.6% เมื่อเทียบรายปี ขณะที่ยอดนำเข้าพุ่งขึ้น 38.1% ส่งผลให้จีนมียอดเกินดุลการค้าในเดือน มี.ค. อยู่ที่ 1.38 หมื่นล้านดอลลาร์

สำหรับยอดการส่งออกจากจีนไปยังสหรัฐในเดือน มี.ค.พุ่งขึ้น 53.3% ซึ่งทำให้จีนมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐอยู่ที่ 2.137 หมื่นล้านดอลลาร์เศรษฐกิจจีนได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั่วโลก รวมทั้งความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนในหลายประเทศ นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนยังได้ปัจจัยหนุนจากการที่รัฐบาลจีนประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินบาทยังคงปรับตัวในแนวอ่อนค่าในช่วงต้นสัปดาห์ หลังอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือนเมื่อวันศุกร์ (9/4) ที่ผ่านมา ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบสามของโควิด-19 ในประเทศ ซึ่งมีการแพร่กระจายออกไปในหลายจังหวัดอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดีเงินบาทในวันศุกร์ (16/4) ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อเย็นวันจันทร์ เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับลดลง แม้ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐจะออกมาดูดีก็ตาม

ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าตามตลาดโลกและเงินหยวน อย่างไรก็ดี ต้องจับตาการประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ในวันศุกร์ (16/4) ว่าจะมีมาตรการออกมาในระดับที่เข้มงวดมากน้อยเพียงใดในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในประเทศ

ทั้งนี้ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.11-31.59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (16/4) ที่ระดับ 31.27/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (12/4) ที่ระดับ 1.1890/93 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/4) ที่ระดับ 1.1900/04 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรอ่อนค่าจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันศุกร์ (9/4) สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีในเดือนกุมภาพันธ์ลดลง 1.6% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 1.5%

ประกอบกับหน่วยงานด้านสุขภาพของเยอรมันแสดงความกังวลต่อสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในเยอรมนี และต้องการให้รัฐบาลควบคุมสถานการณ์ล็อกดาวน์ไปจนกว่าจะจบระลอกที่สาม

สำหรับศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีลดลงสู่ระดับ 70.7 ในเดือนเมษายน จากระดับ 76.6 ในเดือนมีนาคม สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 79.0

การปรับตัวลงของดัชนีความร่วมมือเดือนเมษายนเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เนื่องจากความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นว่าเยอรมนีจะกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดอีกครั้ง ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อการบริโภคของภาคเอกชน

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1869-1993 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (16/4) ที่ระดับ 1.1975/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (12/4) ที่ระดับ 109.65/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/4) ที่ระดับ 109.60/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนเริ่มปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังนักลงทุนหันเข้าซื้อเงินเยน ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

ทั้งนี้ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญที่เปิดเผยในวันนี้ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม ขยายตัว 1.0% เมื่อเทียบเป็นรายปี สูงกว่าที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 0.5% ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.60-109.76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (16/4) ที่ระดับ 108.85/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ